สำนักโพลไอเอฟดี เผยผลสำรวจมีการคอร์รัปชั่นในระดับมหาวิทยาลัยมากที่สุด

0
378
image_pdfimage_printPrint

สำนักโพลไอเอฟดี เผยผลสำรวจมีการคอร์รัปชั่นในระดับมหาวิทยาลัยมากที่สุด
และประชาชนไม่เชื่อมั่นรัฐ ว่าแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษาได้

ระบบการศึกษา ถือเป็นแหล่งผลิตและพัฒนากำลังคนและสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาด้านการคอร์รัปชั่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ทั้งในด้านจํานวนเงินหรืองบประมาณที่ต้องสูญเสียไป และยังส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคุณภาพการจัดการศึกษา รวมถึงกระทบต่อการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ความเท่าเทียม และโอกาสเข้าถึงการศึกษาของประเทศไทยอีกด้วย
สำนักโพลไอเอฟดี ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,191 คน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เกี่ยวกับความคิดเห็นการคอร์รัปชั่นในวงการศึกษาไทย พบว่าประชาชนคิดเห็นว่า ระบบการศึกษาไทยมีการคอร์รัปชั่นที่ระดับคะแนน 6.75 (จากคะแนนเต็ม 10) และเมื่อถามต่อไปว่า มีการคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษาในระดับใดมากที่สุด ประชาชนคิดเห็นว่า แวดวงมหาวิทยาลัยมีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด รองลงมาคือ การอาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐานตามลำดับ
และเมื่อถามประชาชนเพิ่มเติม เกี่ยวกับความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในวงการศึกษาไทยได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชนให้คะแนนเพียง 6.86 แสดงนัยยะว่าประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษาได้
จากผลสำรวจ ประชาชนให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษา ตามลำดับดังนี้ อันดับแรก คือ แก้ไขบทลงโทษสถานหนักแก่ผู้ทุจริต อันดับ 2 คือ แก้กฎหมายให้ภาคประชาชนมีอำนาจตรวจสอบการทุจริตในสถาบันการศึกษา อันดับ 3 คือ ต้องเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังและรวดเร็ว อันดับ 4 คือ สนับสนุนให้ผู้บริหารมือสะอาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารของสถาบันการศึกษา และอันดับสุดท้าย คือ ใช้ ม. 44 ปลดคณะผู้บริหารของสถาบันการศึกษาที่มีปัญหา
จากผลการสำรวจ ประชาชนมีความกังวลต่อการคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษาโดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นในระดับมหาวิทยาลัย โดยประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษาได้ ดังนั้น รัฐจึงต้องดำเนินการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังและเข้มข้น โดยปฏิรูปวงการศึกษาให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยไม่มุ่งเน้นการใช้ ม. 44 ในการจัดการแก้ปัญหา แต่ต้องดำเนินการแก้ไขบทลงโทษในสถานหนักแก่ผู้ทุจริต และให้ภาคประชาชนมีอำนาจตรวจสอบการทุจริตในสถาบันการศึกษาได้มากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่การให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ ย่อมทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในการสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันแก้ไขและบรรเทาปัญหาการทุจริตในแวดวงการศึกษาไทยได้