สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เดินหน้าแก้ปัญหาคนกับช้างที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย

0
423
image_pdfimage_printPrint

S__10149894

สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เดินหน้าแก้ปัญหาคนกับช้างที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย เผยสาเหตุมาจากการรบกวนของคนทั้งการล่าสัตว์ เก็บหาของป่า นำสัตว์เลี้ยงจำพวกวัว-ควายเข้าไปเลี้ยงในป่ารวมทั้งการปลูกพืชเกษตรที่เป็นพืชอาหารของช้างป่าโดยรอบหรือติดขอบป่า เตรียมหามาตรการแก้ไขอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนำนางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าภูหลวง โดยนางเตือนใจ กล่าวถึงสถานการณ์ช้างป่าภูหลวง ว่าการเกิดข้อขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับคน การใช้พื้นที่ราบริมแหล่งน้ำหรือเชิงเขา ซึ่งบริเวณดังกล่าวช้างป่าใช้เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และแหล่งหลบภัยที่สำคัญ ชาวบ้านก็บุกรุกไปใช้ทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกพืชจำพวก ข้าว ข้าวโพด อ้อย ทำให้พื้นที่อนุรักษ์หลายๆ แห่งประสบปัญหาช้างป่าออกหากินและเหยียบย่ำพืชไร่ ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน ช้างป่าถูกฆ่าจากการที่ชาวบ้านป้องกันพื้นที่เกษตร และชาวบ้านถูกช้างป่าทำร้ายอยู่บ่อยๆ
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวต่อว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เริ่มมีปัญหาช้างป่าตั้งแต่ปี 2541และปัญหาความรุนแรงของช้างป่าได้เพิ่มมากขึ้น พื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้นเกิดขึ้นทุก ๆ ปี ส่วนการแก้ปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการขับไล่ช้างป่าให้ออกไปนอกเขตเกษตรกรรมของตนด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งวิธีที่คิดขึ้นเองและวิธีที่นำมาจากพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน รวมทั้งการประยุกต์ใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน แต่ยิ่งนับวันปัญหาความขัดแย้งก็ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตของทั้งคนและช้างป่า ทั้งนี้ จำนวนช้างป่าภูหลวง มีจำนวนมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2541 ใช้วิธีเดินตามโขลงและซุ่มนับ พบประชากรช้างป่ามีไม่น้อยกว่า 50 ตัว ปี 2550 พบประชากรช้างป่าจำนวน 79 – 95 ตัว ปี 2555 พบเห็นตัวโดยตรง 30 ตัว จำนวนประมาณ 105 ตัว และล่าสุดปี 2558 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจประชากรช้างป่าโดยการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera trap) ทั่วเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ได้จำนวนประชากรช้างป่าในพื้นที่ จำนวน 97 ตัว
นางเตือนใจ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่า เพราะ พฤติกรรมของช้างฝูงที่จะกันช้างหนุ่มที่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ออกจากฝูง เป็นกลไกตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันการผสมเลือดชิดภายในฝูงนอกจากนี้ ยังมีปัจจัยรบกวนภายในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น การรบกวนจากมนุษย์ทั้งการล่าสัตว์ เก็บหาของป่า จากนำสัตว์เลี้ยงจำพวกวัว-ควายเข้าไปเลี้ยงในป่า การพัฒนาสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยภายนอกพื้นที่อนุรักษ์ เช่น การปลูกพืชเกษตรที่เป็นพืชอาหารของช้างป่าโดยรอบหรือติดขอบป่า แต่อย่างไรก็ตาม สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้วางแนวทางการป้องกันช้างเข้าพื้นที่เกษตรในปัจจุบันหลายวิธีการซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ทั้งการก่อกองไฟ การใช้เชือกสะท้อนแสงรอบแปลงเกษตร การใช้ไฟฉายสาดส่องในเวลากลางคืนใช้ประทัดมัดธูปเพื่อให้เกิดเสียงดัง นอนห้างหรือกระท่อมเฝ้าระวังในตอนกลางคืน ใช้แนวรั้วไฟฟ้ามีทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ใช้กะลอหรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงดัง เป็นต้น โดยวิธีการป้องกันข้างต้นไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะ ช้างมีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาตราบใดที่พืชอาหารยังมีอยู่ใกล้ชายป่า ทั้งนี้ สิ่งที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ยังมีการใช้รั้วรังผึ้งป้องกันพื้นที่เกษตรจากการทำลายของช้างป่า การส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร ดำเนินการควบคู่กับไปเพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า และให้ชุมชนเรียนรู้อยู่ร่วมกันเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ช้างป่าอย่างยั่งยืน