เพื่อรองรับการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ สู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานยังกระจัดกระจายและไม่สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การนำข้อมูลไปใช้เพื่อการตัดสินใจและบริหารจัดการน้ำยังขาดประสิทธิภาพ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ดำเนินโครงการระบบการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำทั่วประเทศ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ (โครงการระยะที่ 1) โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการโครงการ และได้จัดการประชุมเปิดตัวโครงการฯ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งมีผู้ร่วมงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้จัดเก็บข้อมูล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ตลอดจนองค์กรด้านนโยบาย สถาบันการศึกษาสมาคม องค์กรต่างๆ และบริษัทที่ดำเนินการบริหารจัดการน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกกำลังหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำทั่วประเทศ ได้รับทราบที่มาความสำคัญ ขั้นตอนการดำเนินงาน การพัฒนาดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ ตลอดจนรับทราบผลการประเมินดัชนีชี้วัดที่คาดว่าจะได้และแนวทางในการนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนจัดการน้ำในพื้นที่ระดับต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆและประชาชนทั่วไปให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ในระหว่างการจัดเก็บข้อมูลทั่วประเทศ ซึ่งจะดำเนินการในระหว่างไตรมาสที่ 3 ถึง 4 ของปี พ.ศ. 2562
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดตัวโครงการระบบจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ในลุ่มน้ำทั่วประเทศ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ (โครงการระยะที่ 1) ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ และได้กล่าวว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิต การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และการรักษาระบบนิเวศของประเทศไทย หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างเหมาะสมจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม หากการบริหารจัดการน้ำไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง คือเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการผลิตในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการ ซึ่งประเทศไทยได้ประสบปัญหามาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หรืออาจเกิดปัญหาน้ำมากจนเป็นน้ำท่วม ดังเช่นมหาอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียหายต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศของประเทศอย่างมากมายมหาศาล
คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำของประเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีความเป็นเอกภาพ และเกิดการบูรณาการในการจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวม โดยประเทศมีระบบ ฐานข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สามารถใช้ร่วมกันได้อย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ในแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2558-2569 ที่ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5. ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน 6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ในวันนี้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่พยายามร้อยเรียง กระบวนการทำงานด้านน้ำให้มีการบูรณาการ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ยกระดับความเป็นอยู่ของ ประชาชน รองรับการผลิตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และยังคงความสมดุลของสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศไว้ โครงการนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญอีกหนึ่งโครงการ ที่มีความจำเป็นต่อการตัดสินใจ ในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนทั่วไป เข้าใจสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ย่อย ระดับจังหวัด ระดับลุ่มน้ำย่อย ระดับลุ่มน้ำ และระดับประเทศในมิติต่างๆ โดยใช้ฐานข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นร่วมกัน ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาประเทศ ตามวาระการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ได้อย่างมั่นคง
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวกับสถิติตามหลักวิชาการ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงข้อมูลพื้นฐานการใช้น้ำในระดับพื้นที่ย่อย ที่ครบถ้วน ถูกต้อง แม่นยำ ไม่ซ้ำซ้อน และตรงความต้องการของผู้ใช้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนของประเทศ ดังนั้นการศึกษาและสำรวจข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับการใช้น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลในเชิงบูรณาการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บข้อมูล และประเทศมีสถิติที่สำคัญสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ และจัดลำดับความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบาย และแผนในการกำหนด ทิศทางการพัฒนาประเทศ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต รวมถึงมีข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วนต่างๆ ของประเทศ สสช.ได้เสนอ “โครงการระบบการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ในลุ่มน้ำทั่วประเทศจำนวน 25 ลุ่มน้ำ (โครงการระยะที่ 1)” เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และสร้างดัชนีชี้วัดต้นแบบเพื่อประเมินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย
โดยมี เป้าหมายของโครงการ คือ มีการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งที่มีอยู่ และดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในส่วนที่ขาดหาย เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ และจัดทำดัชนีชี้วัดที่สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจด้านนโยบายและการจัดการน้ำต่อไป เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วย
• การศึกษาและวิเคราะห์รายละเอียดโครงสร้างข้อมูลใน “ระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” ศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งดัชนีชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของต่างประเทศ เพื่อกำหนดดัชนีชี้วัดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย
• การวิเคราะห์ ออกแบบกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งการพัฒนาระบบเพื่อการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานและการนำเข้าข้อมูลจากแหล่งอื่น
• การจัดประชุม สัมมนา และการฝึกอบรม
• การเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอดัชนีชี้วัดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย
รศ.ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า “โครงการระบบการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำทั่วประเทศ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ (โครงการระยะที่ 1)” ใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 30 เดือน เริ่มจากวันที่ 29 มี.ค. 2560 ถึง 15 ก.ย. 2562 โดยจะดำเนินการศึกษาดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ รวมทั้งดำเนินการจัดเก็บข้อมูลที่ขาดหายในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ดัชนีชี้วัดต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำที่ได้ทำการพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการนี้ ชื่อ ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ (Water Management Index, WMI) เป็นดัชนีชี้วัดที่ใช้วัดระดับการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่มีเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการตัดสินใจกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในอนาคต ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ ประกอบด้วย 8 มิติ คือ 1. มิติต้นทุนทรัพยากรน้ำ 2. มิติการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค 3. มิติความมั่นคงของน้ำเพื่อการพัฒนา 4. มิติความสมดุลของน้ำต้นทุนและการใช้น้ำ 5. มิติการจัดการคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมน้ำ 6. มิติการจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ 7. มิติการจัดการและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และ 8. มิติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ในส่วนของผลการศึกษาจากโครงการที่จะได้ ประกอบด้วย 1. ผลการจัดเก็บข้อมูลการบริหารจัดการน้ำที่ดำเนินการสำรวจทั่วประเทศ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจะจัดเก็บข้อมูลเพื่อตอบสนองข้อมูลในส่วนที่ขาดหายที่ได้จากการประเมินดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ รวมทั้งเป็นข้อมูลที่ไปสนับสนุนคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ในมิติเชิงเศรษฐกิจและสังคม และ 2. ผลการประเมินดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ ที่ได้จากการประเมินข้อมูลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ย่อยระดับต่างๆ โดยดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำจะเป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้วัดระดับการจัดการน้ำของแต่ละพื้นที่ได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแต่ละพื้นที่ในอนาคตต่อไป