สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จัดใหญ่ ประกวดโมบาย แอปฯ ภาครัฐ MEGA2015 ระดมแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ หวังสร้างแอปฯ ชั้นยอดบริการประชาชน พร้อมเผย 10 แอปฯ ภาครัฐยอดนิยมแห่งปี ชี้ทิศทางแอปฯ ภาครัฐด้านบริการมาแรงปี 2559

0
442
image_pdfimage_printPrint

MT9A4072

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการพัฒนาโมบาย แอปพลิเคชัน ภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2558 หรือ Mobile Enterprise d-Government Awards 2015 (MEGA2015) ในครั้งนี้ เป็นการปลุกกระแสให้ทั้งวงการภาครัฐที่เป็นเจ้าของข้อมูล และนักพัฒนาแอปพลิเคชันในส่วนต่างๆ ของประเทศ ได้เกิดความร่วมมือกันในขั้นต้น นำไปสู่การที่แอปพลิเคชันใหม่ๆ ของภาครัฐจะกลายเป็น service application หรือแอปพลิเคชันภาครัฐที่เน้นการให้บริการ เกิดธุรกรรมที่ใช้งานจากประชาชน ไม่ใช่เป็นเพียงแอปพลิเคชันที่ให้แค่ตัวหนังสือ ข่าวสารบางด้าน หรือให้ประชาชนรู้จักองค์กรของตนเองเท่านั้น ภาครัฐต้องเปลี่ยนข้อมูลและสิ่งต่างๆ ที่มีในเว็บ ในแอปพลิเคชันเดิม ให้กลายเป็นบริการ ให้ประชาชนได้เข้าไปใช้งาน ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ ให้ประชาชนได้เข้าถึงงานบริการของภาครัฐได้ง่ายขึ้น ตัดปัญหาทางด้านต่างๆ ของการให้บริการภาครัฐลงไป นี่คือแนวโน้มใหม่ที่นโยบายการสร้างยุคเศรษฐกิจดิจิทัลต้องการเห็น และต้องการให้เป็นไปและที่สำคัญสำหรับการประกวดครั้งนี้ คือ EGA รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่อโครงการที่ท่านทรงพระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ ซึ่งเปรียบเสมือนการได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ที่ทรงตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการและการพัฒนาประเทศ มาเป็นหลักในการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ มาสู่ภาคปฏิบัติ EGA มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนา โมบาย แอปพลิเคชัน ของภาครัฐ เพื่อเป็นการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพบริการของรัฐให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วย

นางสาวมาลี วงศาโรจน์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นการประกวดการสร้างแอปพลิเคชันของภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าที่สุดที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งมือใหม่และมืออาชีพไม่ควรพลาด อันเนื่องมาจากการได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นปีแรก และจะเป็นรางวัลที่สนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จากแนวคิดที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐมากที่สุดโมบาย แอปพลิเคชัน ภาครัฐจะทำให้เกิด Transparency สนับสนุนความโปร่งใส ด้วยการนำชุดข้อมูลภาครัฐใน data.go.th มาใช้ต่อยอดพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน ทำให้เกิดการยอมรับในการบริการของภาครัฐ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ในการประกวดครั้งนี้ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ มาพัฒนาเป็นโมบายแอปพลิเคชันใหม่ นั่นคือการ Integrate ซึ่งจะเป็นการทำลายขอบเขตเดิมคือ หน่วยงานรัฐจะพัฒนาแอปพลิเคชันบนฐานข้อมูลของหน่วยงานตนเอง ซึ่งการบูรณาการข้ามหน่วยงานจะสร้างประโยชน์ในการบริการใหม่ๆ ให้กับประชาชนอย่างมากในแต่ละหมวดของการแข่งขันยังแบ่งเป็นรางวัล ประเภทสุดยอดแนวคิด และประเภทสุดยอดนวัตกรรม รองรับแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อุปกรณ์ wearable หรืออุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา แว่นตา ฯลฯ จะเป็นอุปกรณ์สื่อสารหลักแทนโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยี AI จะเฉลียวฉลาดจนคนไม่ต้องพกพาอุปกรณ์อย่างอื่นติดตัว หรือการที่มีเทคโนโลยี Internet of Thing ที่เรียกว่า IOT ที่ทำให้ทุกอุปกรณ์สามารถต่อเชื่อมถึงกัน และสามารถสั่งการ โอนถ่ายข้อมูล และนำไปใช้ประโยชน์ผ่านอุปกรณ์พกพาต่างๆ ได้ นวัตกรรมเหล่านี้ สิ่งที่ทั้ง ICT และหน่วยงานพันธมิตรทั้งหมดคาดหวังก็คือ จะมีบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ ของภาครัฐเกิดขึ้นบนเวทีประกวด และถูกพิสูจน์ว่าผลงานเหล่านั้นใช้งานได้จริง ทุกหน่วยงานพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผลงานเหล่านั้นประสบความสำเร็จ พร้อมจะเผยแพร่ให้ประชาชนได้ใช้งาน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างฉลาด หรือ smart พร้อมกับผลักดันให้บริการของภาครัฐดีขึ้น สะดวกขึ้น ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาการประกวด MEGA2014 มีผู้เข้าประกวดที่ได้รับรางวัลต่างๆ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานรัฐในการสานงานต่อในแอปพลิเคชันนั้นๆ เพื่อให้แอปฯ เหล่านั้นได้ถูกนำไปใช้งานจากหน่วยงานรัฐนั้นจริงๆ ซึ่งแต่ละแอปพลิเคชันจากภาคเอกชนก็เข้าสู่กระบวนการเจรจา และตกลงเงื่อนไขจนออกมาสู่การใช้งานได้จริงในที่สุดขณะที่ EGA เองก็ได้เร่งผลักดันให้การเผยแพร่ข้อมูลภาครัฐผ่าน www.data.go.th มีจำนวนมากขึ้น และเป็นที่สนใจของทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำข้อมูลเหล่านั้นไปบูรณาการต่อ รวมถึงการออกมาตรฐานของชุดข้อมูลที่จะเผยแพร่ขึ้นมา ในปัจจุบันก็มีชุดข้อมูลของแต่ละหน่วยงานทยอยขึ้นในปีนี้ และจะเกิดขึ้นจริงจังในปี 2016 นี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการนำไปใช้ของผู้เข้าประกวด MEGA2015 ได้ทันที ซึ่งปัจจุบันชุดข้อมูลการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในโครงการ Open Data นี้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังเป็นชุดข้อมูลประเภทแผนที่ ตามด้วยการเมืองการปกครอง คมนาคม และโลจิสติกส์ เศรษฐกิจ การเงินและอุตสาหกรรม ตามลำดับ ซึ่งในปีใหม่นี้คาดว่าชุดข้อมูลที่เปิดเผยจะมีความละเอียดและซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม และจะทำให้ข้อมูลมีการบูรณาการกันได้ง่ายยิ่งขึ้นในส่วนของศูนย์กลาง แอปพลิเคชันภาครัฐ (Government Application Center) หรือ GAC ซึ่งถือเป็นแหล่งดาวน์โหลดโมบาย แอปพลิเคชันภาครัฐ ในรอบปีที่ผ่านมา ต้องถือว่ามีความคึกคักอย่างมาก เพราะมีแอปฯ ภาครัฐ ให้ประชาชนได้เข้ามาใช้งานด้านต่างๆ กว่า 116 แอปพลิเคชัน และทิศทางของแอปพลิเคชันที่เน้นการให้บริการเริ่มมีมากขึ้นกว่า 20% โดยในปี 2558 ในช่วงที่ผ่านมา โมบาย แอปพลิเคชัน ยอดนิยม จำนวน 10 แอปฯ ได้แก่

– แอปพลิเคชัน “สุขพอที่พ่อสอน” รวบรวมพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทคัดตัดตอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยแพร่เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์ เกิดความสุขที่แท้จริงอย่างยั่งยืน
– แอปพลิเคชัน “Doctor Asks” เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับบริการด้านสุขภาพ สื่อสารระหว่างผู้รับบริการเป็นภาษาพม่า ตามโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน แสดงข้อมูลการซักถามประวัติเจ็บป่วย อาการ คำแนะนำ คำบ่งใช้ยา เพื่อรักษาเจ็บป่วยตามอาการ
– แอปพลิเคชัน “กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 และ 103” ให้ความรู้ด้านกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 และมาตรา 103 มีแบบทดสอบวัดความรู้ ความเข้าใจในกฎหมาย เหมาะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่งรวมถึงประชาชนทั่วไป โดยสำนักงาน ป.ป.ช.
– แอปพลิเคชัน “ร้องเรียนป่าไม้” เพื่อให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ท่านพบได้ทันที ได้แก่ ร้องเรียนป่าไม้/เจ้าหน้าที่ เมื่อพบเห็นปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ การบุกรุกป่า หรือพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการติดตามเรื่องร้องเรียนไปแล้ว
– แอปพลิเคชัน “Kaset QR Code” เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารสู่ผู้บริโภค เป็นแอปพลิเคชันสำหรับอ่าน QR Code , Barcode และ AR Code บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรอง
– แอปพลิเคชัน “OHM Book Shelf” รวบรวมประมวลพระราชกรณียกิจและพระกรณียกิจส่วนหนึ่ง พร้อมด้วยภาพพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพสกนิกรได้ทราบกันโดยทั่วไป
– แอปพลิเคชัน “LandsMaps” เพื่อตรวจสอบตำแหน่ง ภาพแปลงที่ดิน โดยระบุเลขที่โฉนด และตรวจสอบเส้นทางเพื่อเดินทางไปยังแปลงที่ดินดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบสถานที่ตั้งสำนักงานเขตที่ดินที่เกี่ยวข้อง
– แอปพลิเคชัน “Oryor Smart” โปรแกรมที่จะช่วยให้คุณเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยา, อาหาร, เครื่องสำอาง, เครื่องมือแพทย์, วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และวัตถุเสพติด
– แอปพลิเคชัน “Police i lert u” ขอความช่วยเหลือจากตำรวจ 24 ชั่วโมง โดยการส่งข้อมูลส่วนตัว ภาพถ่าย เวลาเกิดเหตุ และตำแหน่งที่เกิดเหตุ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรับเรื่อง และจะประสานงานส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าช่วยเหลือ และให้บริการได้ทันที
– แอปพลิเคชัน “We Grow” เพื่อโพสต์ข้อมูลต้นไม้ที่ปลูก ร่วมแชร์แลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ และการสำรวจพันธุ์ไม้หายากเพื่อการอนุรักษ์ ระหว่างผู้ปลูกต้นไม้ เป็นการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนไทยได้มีส่วนร่วมกับโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ สมเด็จพระเทพฯ

จะเห็นได้ว่าแอปฯ ภาครัฐ ที่ได้รับความนิยมนั้น นอกจากจะเข้ากับสถานการณ์และตรงกับการใช้งานจริง ยังขึ้นกับความจำเป็นในการใช้งานประจำวัน ดังนั้น บริการภาครัฐที่สำคัญนอกจากการให้บริการที่ปัจจุบันทันด่วน เพื่อช่วยให้ประชาชนได้ตัดสินใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ยังทำให้การได้รับบริการจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น รวมถึงบริการธุรกรรมของหน่วยงานภาครัฐที่ออกไปในเชิงพาณิชย์ก็เพิ่มอัตราการดาวน์โหลดมากขึ้นตามลำดับ

ดังนั้น ในการประกวด MEGA2015 ในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยEGA ยังคาดหวังว่าจะมีแอปฯ จากการประกวดติดอันดับยอดดาวน์โหลดจากประชาชนสูงสุดในปีต่อไปด้วย และ EGA จะเข้ามาช่วยสร้างสภาพการแข่งขันของแต่ละแอปฯ ให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นตลาดการใช้แอปฯภาครัฐให้มากขึ้นไปพร้อมกันต่อไป สำหรับการแข่งขัน MEGA2015 ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ, สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไท, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

การจัดประเภทการประกวด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ประเภทสุดยอดแนวคิด เป็นการนำเสนอความคิดของนวัตกรรมในรูปแบบของแผนธุรกิจ ทั้งด้านเทคนิค เทคโนโลยี การตลาด และการลงทุน 2. ประเภทสุดยอดนวัตกรรม เป็นการนำเสนอผลงาน หรือ นวัตกรรม ที่กำลังพัฒนา หรือพัฒนาสำเร็จแล้ว ส่วนผู้สมัครต้องสมัครเป็นทีมๆ ละไม่เกิน 3 คน เปิดกว้างให้ผู้สนใจร่วมการประกวด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มนิสิต นักศึกษา ทุกระดับชั้น (ประเภทสุดยอดแนวคิด) ที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาครัฐ และเอกชน 2.กลุ่มนักพัฒนาอิสระ และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย (ประเภทสุดยอดนวัตกรรม) โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย

ระยะเวลาการแข่งขัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ถึง เดือนมิถุนายน 2559 แบ่งการแข่งขันเป็น 2 รอบ คือ รอบแรก การคัดเลือกข้อเสนอโครงการ (Proposal) และ รอบชิงชนะเลิศหรือ รอบนำเสนอ (Prototype) โดยผู้ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 30 ทีม จะได้สิทธิพิเศษ คือ ร่วมกิจกรรมแคมป์บ่มเพาะ (3 วัน 2 คืน) เพื่อเป็นการสนับสนุนเพิ่มพูนความรู้ผ่านหลักสูตรต่างๆ อย่างรอบด้าน ผ่านการกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจที่มีแบบแผน สามารถต่อยอดหรือมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการ และดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงต่อไป

เงื่อนไขการสมัครเข้าร่วมประกวดนั้น ผู้สมัครเลือกส่งผลงานประกวดได้ประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น คือ เลือกประเภท สุดยอดแนวคิด หรือ สุดยอดนวัตกรรม เพียงหนึ่งประเภทเท่านั้น ในแต่ละประเภทสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 2 ผลงาน ผลงานที่นำเสนอจะต้องเป็นผลงานที่ไม่ได้ลอกเลียนแนวคิดมาจากที่ใด หรือละเมิดลิขสิทธิ์จากผลงานอื่นๆ ในกรณีผลงานผ่านการประกวดอื่นๆ มาแล้ว ผู้ประกวดสามารถนำผลงานนั้นเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้ได้อีก แต่ต้องไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ มาก่อน แต่หากกรณีผลงานเคยได้รับรางวัลจากการประกวดอื่นๆ มาแล้ว หรือ เผยแพร่ หรือ ผ่านการติดตั้งบน Store หรือเปิดใช้บริการเกิดผลประโยชน์ในแง่ธุรกิจแล้ว จะอนุญาตให้ร่วมประกวดได้ โดยมีเงื่อนไขคือ ขอให้ต่อยอดพัฒนาผลงานเพิ่มเติมใหม่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้เขียนรายงานเปรียบเทียบข้อแตกต่างผลงานก่อนและหลัง

ข้อเสนอสุดพิเศษของโครงการนี้ คือ การเพิ่มสิทธิในการได้รับรางวัล เพื่อเพิ่มโอกาสการได้รับรางวัลพิเศษในการประกวด ได้แก่ 1. การนำชุดข้อมูลภาครัฐในศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ หรือ Data.go.th มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำหรับการประกวด 2. การเชิญหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมให้โจทย์สำคัญแก่ผู้ประกวดนำไปพัฒนาเป็นแนวคิดหรือผลงานต้นแบบ ได้แก่ แอปฯ ด้านสิ่งแวดล้อม โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างจิตสำนึกป้องกันลดการเผาในที่โล่งและหมอกควัน และแอปฯ ด้านบริการแพทย์ฉุกเฉิน โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมรับภาวะสาธารณภัย โดยทั้ง 2 แอปฯ ดังกล่าว จะนำไปต่อยอดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทั้ง
2 แห่ง เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานได้จริงต่อไป

รางวัลที่การประกวดครั้งนี้จะมอบให้แก่ผู้เข้าประกวด ที่สำคัญ คือ โอกาสการต่อยอดทางธุรกิจ (Business Opportunity) กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในการประกวดครั้งที่ผ่านมา EGA ได้เชื่อมต่อผู้เข้าประกวดเข้ากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จนสามารถเกิดเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริงหลายแอปพลิเคชัน ดังนั้นแนวคิดนี้ในปีนี้จะมีการสานต่อและเพิ่มจำนวนแอปพลิเคชันที่ใช้งานจริงให้มากขึ้น

ส่วนด้านเงินรางวัล มีทั้งสิ้น 8 รางวัลหลัก คือ ประเภทสุดยอดแนวคิดและประเภทสุดยอดนวัตกรรม (ประเภทละ 4 รางวัล) ได้แก่ 1. รางวัลชนะเลิศ คือ ถ้วยรางวัลพระราชทานและเกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน 70,000 บาท 2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน 40,000 บาท 3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน 20,000 บาท และ 4. รางวัลชมเชย คือ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน รางวัลละ 10,000 บาท

นอกจากนั้น การประกวดจะมีการมอบรางวัลพิเศษอีก 8 รางวัล ได้แก่ รางวัล Government Data Award 1 รางวัล คือ ทุนสนับสนุน 10,000 บาท , รางวัล People’s Choice Award คือ ทุนสนับสนุน 10,000 บาท และมีรางวัลจากหมวด 3 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท คือ รางวัลยอดเยี่ยมด้านเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมรางวัลยอดเยี่ยมด้านเสริมสร้างความรู้ การบริการ สวัสดิการ , รางวัลยอดเยี่ยมด้านส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ ลงทุน ท่องเที่ยว และสุดท้ายคือ รางวัลจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ รางวัลสุดยอดแอปฯ ด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คือ ทุนสนับสนุน 30,000 บาท และ รางวัลสุดยอดแอปด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คือ ทุนสนับสนุน 10,000 บาท รางวัลจากหน่วยงานภาคเอกชน คือ รางวัล The Best Enterprise Mobile Application Award จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดยไอบีเอ็ม และ รางวัล Samsung IOT จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดย Samsung

ผู้ที่สนใจร่วมการประกวด สามารถดูรายละเอียดและกรอกใบสมัครออนไลน์ได้ที่ mega.apps.go.th หรือโทร. 02 612 6060