สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) จัดงาน เผยแพร่ผลงาน สพภ.

0
552
image_pdfimage_printPrint

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) จัดงาน เผยแพร่ผลงาน สพภ. นำเสนอผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ภายใต้แนวคิด “Move forward together ก้าวไปด้วยกัน”เชื่อมประสานการพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพสู่ความยั่งยืน

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงาน “เผยแพร่ผลงาน สพภ.” ในโอกาสครบรอบ 12 ปี เพื่อแสดงผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมเดินหน้าเพิ่มความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของไทย และการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในอนาคต โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันจันทร์ที่ 22 – วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2562 ณ บริเวณศูนย์ส่งเสริมธุรกิจจากทรัพยากรชีวภาพ ชั้น 1 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. (Biodiversity-Based Economy Development Office : BEDO เบโด้) เป็นองค์การมหาชน สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่น ผสานด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างมีดุลยภาพ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพอย่างเป็นระบบ พร้อมผลักดันนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดกระบวนการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ นับเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เพื่อช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนสร้างความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า “สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เป็นหน่วยงานที่ถือเป็นกลไกสำคัญที่สร้างความสมดุลของการพัฒนาบนจุดแข็งของประเทศ คือความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นกลไกสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ทั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญระดับแรกกับการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ให้เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนา ด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจ เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในชุมชนและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ในขณะที่ความหลากหลายทางชีวภาพก็ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป

การจัดงานเผยแพร่ สพภ. ในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้สื่อสารและนำเสนอผลการดำเนินงานให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าใจบทบาท ภารกิจของ BEDO ตระหนัก เห็นถึงความสำคัญ และคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนต่อไป”

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี สพภ. มุ่งมั่นปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวนโยบาย และวิสัยทัศน์ 20 ปีของรัฐบาล คือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยนำหลักการ “BEDO Concept” เป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน ได้แก่ 1) ใช้ความหลากหลายทางชีวภาพหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก 2) มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น และ 3) มีการปันรายได้ส่วนหนึ่งกลับไปสู่วิถีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพในชุมชน โดยรูปแบบการทำงานจะเน้นการสร้างความร่วมมือและทำงานประสานความเชื่อมโยง (Network) กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน พร้อมกำหนดบทบาทเป็นแหล่งให้ความรู้ ด้านเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และเป็นผู้ประสานงาน (Facilitator) แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

ที่ผ่านมา สพภ. มีรูปแบบการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพที่ครอบคลุมอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลพันธุกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ช่วยสร้างความพร้อมด้านข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ ก่อตั้งธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน (Community BioBank) ซึ่งดูแลบริหารจัดการทรัพย์สินชีวภาพของชุมชน ริเริ่มศูนย์ส่งเสริมธุรกิจจากทรัพยากรชีวภาพ เพื่อมอบตราสัญลักษณ์ BioEconomy Promotion Mark การันตีว่า สินค้าที่มีการผลิตตามแนวทาง BEDO Concept นอกจากนั้นยังส่งเสริม สนับสนุนชุมชนให้เกิดการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้แก่ผู้ผลิต เช่น ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร เป็นต้น ตลอดจนการสร้างป่าแบบพอดี ตามวิถีพอเพียง เพื่อการพึ่งพาอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์โครงการชุมชนไม้มีค่า เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน นอกจากนั้นยังกระตุ้นให้เยาวชนมีส่วนร่วมผ่านโครงการ BIO GANG เยาวชนรักษ์โลก นับเป็นการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนการตอบแทนคุณระบบนิเวศตามหลักการ PES ให้กับผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศนั้นๆ เพื่อให้คงไว้ซึ่งบริการหรือประโยชน์อย่างยั่งยืน

“ในโอกาสครบรอบ 12 ปี ของการก่อตั้งสำนักงานในปี 2562 นี้ สพภ. ได้กำหนดจัดงานเผยแพร่ผลการดำเนินงานขึ้น เพื่อแสดงถึงศักยภาพ ขีดความสามารถ บทบาทในการดูแลใส่ใจการทำงานทุกส่วนให้ราบรื่น (Care) และก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความสมดุล (Balancing) สรรสร้างผลการดำเนินงานที่สร้างความสุขร่วมกัน (Happy Together) บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ (Conservation) เพื่อเดินหน้าสู่ความสุขมวลรวมชุมชน (Gross Community Happiness) ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ตลอดจนแถลงทิศทางการดำเนินงานในอนาคต โดยเฉพาะการเชื่อมประสานในการพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ งานมหกรรมที่แสดงผลการดำเนินในภารกิจสำคัญที่เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การจัดทำฐานข้อมูล และการสร้างการมีส่วนร่วม นำเสนอกิจกรรมที่สามารถเชื่อมต่อกับภารกิจขององค์กรภาคีต่างๆ การจัดแสดงผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน ซึ่งหากสาธารณชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ได้รับทราบ และเข้าใจบทบาทของ BEDO ที่ชัดเจนแล้ว จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในระดับต่างๆ นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่มีความเข้มแข็ง ก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างเต็มภาคภูมิ ขณะเดียวกันสพภ. ก็จะมุ่งมั่นและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป (Sustainable Development)”

ทั้งนี้ งาน “เผยแพร่ผลงาน สพภ.” ในโอกาสครบรอบ 12 ปี ประกอบด้วย การจัดแสดงผลการดำเนินงานของ BEDO ที่ผ่านมา พร้อมทั้งทิศทางการดำเนินงานและภารกิจในอนาคตของ BEDO ตลอดจนจัดแสดงผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนกว่า 25 ชุมชน ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันจันทร์ที่ 22 – วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2562 (ระยะเวลารวม 5 วัน) ณ บริเวณศูนย์ส่งเสริมธุรกิจจากทรัพยากรชีวภาพ ชั้น 1 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร