สอท. และ เดลต้า เสริมศักยภาพผู้ออกแบบวางระบบ(SI) และผู้ให้บริการอุตสาหกรรม (ISP)

0
284
image_pdfimage_printPrint

เสริมศักยภาพผู้ให้บริการอุตสาหกรรม Industry Service Provider (ISP)

บุคคลากรผู้ให้บริการอุตสาหกรรม หรือ Industry Service Provider (ISP) เป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ออกแบบวางระบบ หรือ System Integrator (SI) ต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม รอบรู้ในแนวโน้มเทคโนโลยีและทิศทางของผู้ให้บริการอุตสาหกรรม เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานในการเพิ่มผลิตคุณภาพและการผลิต (Productivity) ทำอย่างไรจึงจะเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ให้บริการอุตสาหกรรม และเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเครือข่าย และสร้างความร่วมมือระหว่าง ISP ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้ประเทศเราขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงได้ร่วมมือกับ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หนึ่งในผู้นำนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานและไอซีทีของโลก จัดงาน “Technology & Innovation ในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0” โดยเริ่มจากกลุ่มเป้าหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านวางระบบ หรือ SI (System Integrator) ซึ่งเป็นหนึ่งวิชาชีพในบรรดาผู้ให้บริการอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ออกแบบ จัดหา ติดตั้งระบบไอทีและเครือข่ายสำหรับอุตสาหกรรม ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านระบบคลาวด์ออโตเมชั่น การจัดการพลังงาน โรงงานอัจฉริยะ มาบริการยกระดับปรับปรุงโรงงานต่างๆในประเทศไทย ให้ทันสมัย รองรับ Industry 4.0

ดร. ขัติยา ไกรกาญจน์ (Katiya Greigarn) ประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรม 4.0 และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.โดยสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (สวน.) ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ Business Innovation, Process Innovation และ Product Innovation โดยเป้าหมายสำคัญ คือการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งจากผลการสำรวจอุตสาหกรรมไทยโดยการใช้แบบประเมินตนเอง (Self-assessment) พบว่า ระดับของอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0 ส่วนบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติจะอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 3.0 แต่ไม่ถึงอุตสาหกรรม 4.0 ดังนั้น ส.อ.ท. จึงได้วาง 4 ยุทธศาสตร์การยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 คือ 1.ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าถึงและได้ใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสารสนเทศ 2.ส่งเสริมพัฒนาและสร้างบุคลากรภาคบริการอุตสาหกรรม 3.ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 4.สร้างกลไกตอบสนองความต้องการใช้ด้านเทคโนโลยีของภาคผู้ผลิต

นายสมบูรณ์ พิทยรังสฤษฏ์ (Somboon Pitayarangsarit) รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการที่จะยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 เรายังขาดแคลน ผู้ให้บริการอุตสาหกรรม หรือ ISP (Industry Service Provider) ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นแต่การผลิตเพื่อส่งออก จึงเน้นการผลิตเชิงปริมาณ แต่เราไม่ได้วางรากฐานของการใช้เทคโนโลยี เราจึงต้องเร่งพัฒนาผู้ให้บริการอุตสาหกรรมการผลิต (ISP) ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.Supplier เช่น เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ฯ เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีและมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง 2.Consult คอยประเมินการทำงาน ว่าควรพัฒนาปรับเปลี่ยนในส่วนไหน และมีส่วนใดที่ต้องปรับก่อนแล้วเห็นผลตอบแทนดีที่สุด 3.SI (System Integrator) ผู้ที่ออกแบบวางระบบ ต้องมีการพัฒนาอย่างมาก เพราะมีประสบการณ์น้อย ในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมไทย 4.Builder มักมีโรงงานเป็นของตัวเอง รับออกแบบ สร้างกระบวนการผลิต สร้างเครื่องจักรเอง มีครบทุกด้านทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงมี SI หลายคน ตอบโจทย์ความต้องการได้ ซึ่งประเทศไทยเรายังมีน้อยมาก 5.Program Developer เมื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 Program Developer มีส่วนสำคัญ เพราะเครื่องจักรกับโปรแกรมจะเชื่อมโยงกันได้ก็ต้องมีคนเขียนโปรแกรม ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนอยู่มาก ดังนั้นการสร้างบุคลากร เพื่อให้เข้าถึงและเข้าใช้เทคโนโลยี สำหรับการพัฒนาตนเองและสร้างมูลค่าเพิ่มได้นั้น จะหวังพึ่งภาคการศึกษาอย่างเดียวคงไม่ทันการ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับบริษัทใหญ่ๆที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และร่วมสร้างกลไกที่จะก่อให้เกิด Start Up ได้ในอนาคตอีกด้วย

SI ทำหน้าที่วิเคราะห์ ออกแบบ ติดตั้ง วางแผนและการเชื่อมต่อไอทีเข้ากับเครื่องจักรในอุตสาหกรรม SI ต้องพัฒนาศักยภาพให้สามารถนำนวัตกรรมใหม่ๆมาเชื่อมโยง เช่น ระบบ Automation, Robotics ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาระบบในวงการอุตสาหกรรมทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ประเทศไทยมีจำนวน SI เพียง 9,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในราชการ มหาวิทยาลัย , มีเพียงจำนวน 500 – 600 รายเท่านั้นที่อยู่ในภาคเอกชน และอยู่แต่บริษัทใหญ่ๆ ทำให้ภาคเอกชนขาดแคลนบุคลากร ไม่มีการกระจายไปตามโรงงานต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีโรงงานในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมไทย หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยและสามารถเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ได้สำเร็จ คือ บุคลากรผู้ให้บริการอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนเป็นอย่างมาก ความร่วมมือกับเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ครั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านคลาวด์ Automation และหุ่นยนต์
ด้านมูลค่าของตลาด SI ในประเทศไทยมีประมาณ 30,000 ล้านบาท จากตลาดรวม 60,000 ล้านบาท และคาดว่ามีอัตราการเติบโต 30% จัดเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดี เพราะรายได้หลักของ SI ไม่ได้มาจากฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งนับวันราคาจะถูกลงเรื่อยๆ แต่เป็นเรื่องของนวัตกรรมและซอฟต์แวร์ในการติดตั้งระบบด้วยนั่นเอง

นายเซีย เชน เยน (Hsieh Shen-yen) ประธานบริหาร บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่าด้านความต้องการ SI ในประเทศไทยซึ่งมีโรงงานเป้าหมายจำนวน 30,000 โรงนั้น ผู้วางระบบอุตสาหกรรม หรือ System Integrator (SI) หนึ่งคน สามารถทำงานวางระบบได้ 10 โรงงาน เพราะฉะนั้นตลาดยังมีความต้องการ SI อีกราว 3,000 คน เพื่อรองรับกับการยกระดับ พัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ Industry 4.0 บุคคลากร SI มีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ทันสมัยและก้าวไปสู่ Industry 4.0 โดย SI ต้องปรับตัวและมุ่งในความเป็นธุรกิจบริการมากขึ้น สามารถนำระบบคลาวด์อินดัสเทรียลออโตเมชั่น ไปปรับปรุงโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยมากขึ้นโดยไม่ต้องซื้อเครื่องจักรใหม่หรือที่ดินใหม่ หากสร้างโรงงานใหม่ก็เป็นโรงงานที่ใช้นวัตกรรมอุตสาหกรรม 3.0 หรือ 4.0 ซึงมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตและคุณภาพที่วางใจได้ เช่น กรณีศึกษาของโรงงานผลิตยางรถยนต์ชั้นนำของโลกต้องการเปลี่ยนเป็นโรงงานอัจฉริยะและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้นำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ในการผลิตยางและทำร่องยาง ด้วยระบบอินดัสเทรียลออโตเมชั่น เซ็นเซอร์กว่า 500 ตัว คอยรวบรวมข้อมูลเรียลไทม์เกี่ยวกับอุปกรณ์การผลิต และคุณภาพผลิตภัณฑ์ จากนั้นระบบก็จะคำนวณวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการทำร่องยาง ทำให้ลดเวลาผลิตไปได้ถึง 1 ใน 3 และเพิ่มผลผลิตได้ถึงเท่าตัว
ผู้ที่ออกแบบวางระบบ หรือ SI (System Integrator) ต้องก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการสร้างบุคลากร เพื่อให้เข้าถึงและเข้าใช้เทคโนโลยี สำหรับการพัฒนาตนเองและสร้างมูลค่าเพิ่มได้นั้น จะหวังพึ่งภาคการศึกษาอย่างเดียวคงไม่ทันการ จึงต้องประสานความร่วมมือกับบริษัทใหญ่ๆที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย และร่วมสร้างกลไกที่จะก่อให้เกิด Start Up ได้

นายเกษมสันต์ เครือธร (Kasemson Kreuatorn) ผู้จัดการภาคพื้นอาวุโสฝ่ายอินดัสเทรียลออโตเมชั่น กล่าวว่า ผู้วางระบบอุตสาหกรรม หรือ SI (System Integrator) สามารถนำระบบคลาวด์อินดัสเทรียลออโตเมชั่น ไปปรับปรุงโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยมากขึ้น ช่วยในการเพิ่มผลผลิต รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Things: IoT) และการทำงานร่วมกันของเซิร์ฟเวอร์จำนวนมาก (Cloud) ด้านผลิตภัณฑ์ออโตเมชั่นของเดลต้าฯ มีทั้งฮาร์ดแวร์ เช่น Control, Field Device, Robot, Motion, Drive และมีบริการโซลูชั่นสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการยกระดับปรับปรุงโรงงานและก้าวสู่ Industry 4.0 ตัวอย่างกรณีศึกษาได้แก่ Machine Automation พัฒนาเครื่องจักรอัจฉริยะ โดยเพิ่ม Integrated Elevator Drive เชื่อมต่อในกระบวนการทำงานของลิฟต์ ในประเทศมาเลเซีย สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 40%, กรณีศึกษา Factory Automation เราพัฒนาปรับปรุงโรงงานในประเทศจีน ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ ให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ โดยเพิ่ม Robot Stations เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพ ลดข้อผิดพลาดและการสูญเสีย , กรณีศึกษา Process Automation เช่น Water Treatment Solution ระบบบำบัดน้ำเสีย ในประเทศกรีซ และประเทศจีน โดยได้พัฒนาซอฟต์แวร์ SCADA และ AC Motor Drive เข้าไปในระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการทำงานและประหยัดพลังงาน