สองช่างภาพรางวัลยอดเยี่ยม ชวนคนไทยหัวใจรักธรรมชาติ ส่งผลงานเข้าประกวด
สองช่างภาพรางวัลยอดเยี่ยม ชวนคนไทยหัวใจรักธรรมชาติ ส่งผลงานเข้าประกวด ในโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ครั้งที่ 23 ประจำปี 2560
เป็นเวลากว่า 23 ปีแล้ว ที่กลุ่มทรู โดยทรูปลูกปัญญาได้ผนึกกำลังกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อเชิญชวนให้คนไทยเกิดความรักและหวงแหน อยากเข้าไปใกล้ชิด สัมผัสความงามของธรรมชาติ พร้อมถ่ายทอดความงดงามเหล่านั้น ผ่านภาพถ่าย ซึ่งในแต่ละปี มีผู้สนใจส่งภาพเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก
นายบารมี เต็มบุญเกียรติ อายุ 43 ปี สื่อมวลชน พิธีกร ช่างภาพ และนักเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมชาติ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทสัตว์ป่า ประจำปี 2559 จากภาพ ‘อิสระ’ กล่าวว่า “ภาพ ‘อิสระ’ ที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมในครั้งนี้ เป็นภาพกวางผาที่ผมถ่ายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อต้องการถ่ายทอดให้เห็นถึงสัตว์ป่าสงวนซึ่งใกล้สูญพันธุ์และหายากและอยากสะท้อนให้เห็นถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ชนิดนี้ว่ามีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร
โดยมุมภาพนี้ ผมต้องการถ่ายมานานมาก ซึ่งทุกครั้งที่มาถ่ายก็หวังว่ากวางผาจะมายืนที่บริเวณหน้าผาแห่งนี้
ผมไม่ต้องการภาพกวางผาที่มีขนาดใหญ่ ดูคับจนแน่นหรือถ่ายใกล้ๆ แต่ต้องการถ่ายทอดถึงการมีชีวิต
อยู่อย่างอิสระท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม แล้ววันหนึ่งธรรมชาติได้เปิดโอกาสให้เค้ามายืน
ในมุมนั้นพอดี พร้อมกับแสงที่ประทับใจผมก็ไม่รีรอที่จะกดชัตเตอร์ทันที การถ่ายภาพสัตว์ป่านั้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่แค่เพียงอุปกรณ์ที่ดี แต่เรายังต้องศึกษาสัตว์ชนิดนั้น ว่ามีความเป็นอยู่และพฤติกรรมอย่างไร เช่น เมื่อเรารู้ว่าเชียงดาวมีกวางผาเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้เห็น เราต้องเรียนรู้ว่าสัญชาตญาณของกวางผาจะรับรู้ไวต่อเสียง และกลิ่น ทำให้เราจะต้องเข้าไปในพื้นที่ก่อนและรอช่วงเวลาที่สัตว์เหล่านั้นออกมา เพื่อที่เค้าจะได้ไม่เห็นเรานี่คือสิ่งสำคัญเพื่อให้เราได้ภาพใกล้เคียงอย่างที่คิด และการที่ได้มีโอกาสการเข้าไปในพื้นที่เรื่อย ๆ จะทำให้ธรรมชาติเปิดโอกาสให้เราเอง สำหรับภาพนี้ เนื่องจากเป็นมุมที่ต้องถ่ายข้ามเขาจากลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่ง จึงต้องใช้เลนส์ 600 ม.ม. เพื่อทำให้ได้ภาพที่ใกล้ขึ้น แต่ยังคงเห็นความเป็นหน้าผาที่สวยงามในมุมที่เราต้องการในส่วนรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เราอยากจะทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติและถ่ายทอดออกมาสู่คนหมู่มากต่อไป เพื่อทำให้คนได้รู้ในวงกว้างว่าสัตว์ป่าสงวนชนิดนี้มีถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างไร
นอกจากนี้ ผมมองว่าภาพถ่ายธรรมชาติและสัตว์ป่ามีคุณค่ามากกว่าแค่ความสวยงาม เพราะว่าสัตว์หลายๆ ชนิดอาจจะใกล้สูญพันธุ์ อาจจะหายาก หรือว่าพื้นที่อาจจะถูกทำลาย ถ้าเรามาเรียนรู้แล้วถ่ายทอดให้คนหมู่มากได้รู้ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดกับสัตว์ชนิดนั้น เมื่อคนรู้จักก็จะรักเหมือนกับที่เรารักและจะรู้วิธีอนุรักษ์ทั้งตัวสัตว์และทั้งถิ่นที่อยู่อาศัย”
นายบารมี ยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา ได้ส่งภาพถ่ายธรรมชาติมาร่วมสนุกอยู่บ่อยครั้ง ได้เห็นรูปคนอื่นถ่ายสวยกว่า ทำให้พยายามพัฒนาตัวเองในเรื่องการถ่ายรูป และคิดว่าอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่า และเมื่อวันหนึ่งเมื่อเรามีความรู้สึกว่าประสบการณ์เรามากพอ และมีรูปที่ถ่ายออกมาค่อนข้างดี จึงส่งภาพมาร่วมสนุกอีก จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในปี 2557 และ 2559 จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจการถ่ายภาพว่า ไม่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ อยากให้ลองส่งภาพมาร่วมสนุกกันดู เพราะถ้าเราก้าวเท้าเข้าไปในธรรมชาติ และมีความเข้าใจที่มากพอ ก็จะทำให้เราได้ภาพที่ดีได้เช่นกัน”
นายศราวุฒิ ทองเมือง อายุ 45 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายติดต่อบ้านพักอุทยานภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก รางวัลยอดเยี่ยม ถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประเภทป่าไม้ ประจำปี 2559 จากภาพ ‘สีสันป่าสวยงาม’ กล่าวว่า “รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้นับว่า
เป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลอย่างมาก สำหรับภาพ “สีสันป่าสวยงาม”นี้ เป็นภาพถ่ายมุมสูง
บนเฮลิคอปเตอร์ในเดือนมกราคมปี 2559 จากการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสภาพป่าในอุทยานภูหินร่องกล้า ซึ่งยังคงสภาพเป็นป่าดิบเขาที่สมบูรณ์ และขณะนั้นป่ากำลังเปลี่ยนสีสวยงามมาก จึงอยากถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติและผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนความยากในการถ่าย คือการถ่ายภาพบนเครื่องบินที่บินด้วยความเร็ว ต้องมีการเตรียมพร้อมในการถ่ายภาพ เคล็ดลับคือต้องวัดแสงไว้ก่อน และตั้งสปีดชัตเตอร์ให้สูง พร้อมกดชัตเตอร์อย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจต้องรวดเร็วเพื่อบันทึกภาพให้ทัน ในสถานการณ์ สภาพอากาศและธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สำหรับมือใหม่หากฝึกถ่ายภาพบ่อย ๆ ก็จะเกิดความชำนาญและควบคุมกล้องได้มั่นคงแม่นยำ เพราะการถ่ายภาพต้องหมั่นฝึกฝนเหมือนนักกีฬา และบางทีก็ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว”
นายศราวุฒิ เพิ่มเติมว่า “ธรรมชาติในประเทศไทยสวยงามที่สุดอยู่แล้ว อยากเชิญชวนช่างภาพและผู้ที่สนใจได้ออกมาท่องเที่ยวเพื่อถ่ายภาพธรรมชาติด้วยกัน เพราะธรรมชาตินั้นมีเรื่องราวมากมายให้เราได้เรียนรู้ทั้งในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ซึ่งรอให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสเพื่อบันทึกความงดงามของธรรมชาติและปรากฎการณ์ที่อาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก บางครั้งปรากฎการณ์ธรรมชาติที่แสนจะธรรมดานี้ กลับสร้างความความทรงจำอันล้ำค่าให้กับตัวเรา หากท่านใดมีภาพถ่ายธรรมชาติสวย ๆ อย่าเก็บไว้ ส่งภาพเข้ามาประกวดในโครงการนี้ นอกจากจะได้ร่วมกันปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านทางโครงการฯ แล้ว ภาพของท่านอาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนก็เป็นได้”
สำหรับรางวัลในปีนี้ คือถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งเงินรางวัล และสิทธิ์ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศรวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท โดยเชิญชวนคนไทยส่งภาพความงดงามของธรรมชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ถ่ายจากกล้องดิจิทัลหรือสแกนจากแผ่นฟิล์มเข้าประกวดได้ที่เว็บไซต์ http://www.trueplookpanya.com/new/csa/project/14 หรือส่งทางไปรษณีย์ที่ ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม กลุ่มทรู เลขที่ 18 อาคารทรู ทาวเวอร์ ชั้น 18 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โทร. 02-764-9761