สหภาพรัฐสภาประณามการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในเมียนมา
ชุมชนรัฐสภาทั่วโลกประณามการล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของเมียนมา โดยบรรดาสมาชิกรัฐสภาได้เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายุติการขับไล่ชาวโรฮิงญาด้วยความรุนแรงและการใช้กำลังบีบบังคับ รวมทั้งยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาอย่างโจ่งแจ้งโดยทันที
ในการลงมติประเด็นฉุกเฉินในวาระการประชุม วันที่ 18 ตุลาคม ที่การประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพรัฐสภา (IPU) ครั้งที่ 137 บรรดาสมาชิกรัฐสภาได้แสดงความวิตกกังวลต่อกรณีที่ชาวโรฮิงญานับล้านคนได้อพยพหนีภัยไปยังบังกลาเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงผลกระทบด้านมนุษยธรรมและความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นทั้งสำหรับประเทศและภูมิภาค โดยชาวโรฮิงญาได้เริ่มอพยพหนีภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีต่อต้านรัฐบาลอันนำไปสู่การตอบโต้ทางทหารครั้งใหญ่
นายซาเบอร์ ชาวดูรี่ ประธาน IPU กล่าวว่า “การลงมติครั้งนี้เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนรัฐสภาทั่วโลกดำเนินมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยุติการล้างเผ่าพันธุ์ของชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ และเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถอยู่เฉยได้เมื่อต้องเหตุประชาชนหนึ่งล้านคนพยายามหนีความรุนแรงและการข่มเหง วิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นการคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค”
โดยที่ประชุมได้เสนอแนะให้มีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวในเมียนมา ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อปกป้องพลเมืองทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือศาสนา ขณะเดียวกัน สมาชิกรัฐสภาได้เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อยุติความรุนแรง และทำให้สถานการณ์อันเศร้าสลดนี้สิ้นสุดลง
วาเลนตินา มัตวิเยนโก ประธานการประชุมสมัชชาใหญ่ กล่าวว่า “การลงมติต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ปีนี้ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพรัฐสภา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลของประชาคมโลกต่อสถานการณ์ดังกล่าว ฉันเชื่อว่า หน่วยงานและสมาชิกรัฐสภาในเมียนมาจะได้รับฟังเสียงสะท้อนนี้ และจะทำให้พวกเขาดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ และหลีกเลี่ยงหายนะด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่”
ขณะเดียวกัน นายมาร์ติน จุนกอง เลขาธิการ IPU ระบุว่า “สถานการณ์ของชาวโรฮิงญานั้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ สมาชิกรัฐสภาจากทั่วทุกมุมโลกจะต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อประณามความโหดร้ายนี้”
สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ถูกเสนอเป็นประเด็นฉุกเฉินคือวิกฤติการณ์การเมืองในเวเนซุเอลา และการคุกคามสันติภาพและความมั่นคงสากลอันเนื่องมาจากการทดสอบนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (DPRK) หรือเกาหลีเหนือ ขณะที่ประเทศจิบูตี ซึ่งเสนอมติว่าด้วยบทบาทของรัฐสภาในการรักษาความมั่นคงและสันติภาพระหว่างประเทศ ได้ถอนข้อเสนอดังกล่าว เพื่อแสดงความสามัคคีให้ที่ประชุมได้บรรลุฉันทามติในประเด็นเดียว
เนื่องจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่จะลงมติในประเด็นฉุกเฉินเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น กระบวนการคัดเลือกจึงประกอบด้วยการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมเต็มคณะ โดยข้อเสนอนั้นๆ ต้องได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่สองในสาม และประเด็นที่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุดจึงจะผ่านการรับรอง สำหรับในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 137 ของ IPU นั้น ข้อเสนอสองข้อ ซึ่งได้แก่ การทดสอบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และ วิกฤติการณ์ชาวโรฮิงญาได้รับคะแนนโหวตสองในสาม โดยข้อเสนอเรื่องวิกฤติการณ์โรฮิงญาได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดในที่ประชุมเต็มคณะ และได้รับเลือกเป็นประเด็นฉุกเฉิน
ที่มา: สหภาพรัฐสภา (IPU)