สสส. และเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน ต่อยอดความสำเร็จ ขับเคลื่อน “โครงการอ่านสร้างสุข ยกกำลังสุขในสถานศึกษาและชุมชน” พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่ต้นแบบในกรุงเทพมหานคร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร 4 สังกัด จัดประชุมปฏิบัติการ “โครงการอ่านสร้างสุข ยกกำลังสุขในสถานศึกษาและชุมชน” ปีการศึกษา 2559 หวังพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในทุกด้าน และบุคลากรในสถานศึกษา ตลอดจนครอบครัว และชุมชน ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่ต้นแบบในกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 งานแถลงข่าวและประชุมปฏิบัติการ จัดขึ้น ณ โรงแรมหาดใหญ่ พาราไดซ์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า “จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับองค์กรหลักด้านการศึกษา ดำเนินโครงการ “อ่านสร้างสุข” ในโรงเรียนและสถานศึกษาขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เพื่อส่งเสริมให้เกิดสถานศึกษาต้นแบบที่ใช้แนวคิด “อ่านสร้างสุข” พัฒนาศักยภาพผู้เรียนในทุกด้าน รวมถึงบุคลากรในสถานศึกษา ตลอดจนครอบครัวและชุมชน เพื่อร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ รวมถึงเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขยายและสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดสถานศึกษาอ่านสร้างสุขทั่วประเทศ ซึ่งผลดำเนินโครงการ 3 ปีที่ผ่านมา เกิดผลสำเร็จทั้งในตัวผู้เรียน ครู และคณะทำงาน จึงนำมาสู่ทิศทางการดำเนินโครงการในปีที่ 4 นี้ คือการจัด “โครงการอ่านสร้างสุข ยกกำลังสุขในสถานศึกษาและชุมชน” ปีการศึกษา 2559 ในพื้นที่ชายแดนใต้และโรงเรียนต้นแบบในกรุงเทพมหานคร โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 – เดือนสิงหาคม 2560
โครงการ “อ่านสร้างสุข ยกกำลังสุขในสถานศึกษาและชุมชน” ปีการศึกษา 2559 จัดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างเสริมระบบการอ่าน ให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้สู่วิถีสุขภาวะ โดยสอดคล้องกับความต้องการและการพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยใช้แนวคิดการอ่านสร้างสุขเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนใต้ และกรุงเทพมหานคร และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา อีกด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือสถานศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจาก 4 สังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สังกัดละ 2 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ คือ จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล รวม 30 โรงเรียน และสังกัดสำนักการศึกษา กทม. จำนวน 10 โรงเรียน ที่มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม โดยคาดหวังว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เกิดความสุข ความเพลิดเพลิน และใช้การอ่านนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต มีนวัตกรรม “อ่านสร้างสุข” และแนวทางดำเนินงาน “อ่านสร้างสุข” ที่เสริมสร้างพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ครอบครัว บุคลากรทางการศึกษา และชุมชน โดยมีความร่วมมือและบูรณาการภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างความสุขในชุมชนร่วมกัน และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น”
นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการ กศน. ผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ภาครัฐมีการกำหนดนโยบายด้านการอ่านอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนนโยบายด้านการศึกษา ได้แก่ นโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561) และการกำหนดทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นโยบายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการการสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย ให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยการน้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยสะดวก และสามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นทุกภาคส่วนร่วมมือกันเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อสร้างสังคมแห่งการอ่าน เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป”
ด้าน นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “สงขลาวางยุทธศาสตร์ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาการเรียนรู้ ดังนั้นนอกจากโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว จึงได้มอบให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั้ง 10 โรงเรียน เข้าร่วมโครงการฯ ด้วย ซึ่งคาดหวังว่าผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะได้ไปขยายผลในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศต่อไป”
สำหรับ “โครงการ อ่านสร้างสุข ยกกำลังสุขในสถานศึกษาและชุมชน” ปีการศึกษา 2559 ในครั้งนี้ มุ่งสร้างเสริมระบบการอ่าน ให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้สู่วิถีสุขภาวะ โดยสอดคล้องกับความต้องการและการพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยใช้การอ่านสร้างสุขเป็นพลังขับเคลื่อน ในพื้นที่ โดยใช้แนวคิด “อ่านสร้างสุข” เพื่อพัฒนาผู้เรียน การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของบุคลากรในทุกระดับ เช่น ครู ผู้บริหาร ครูปฏิบัติการ แกนนำระดับชุมชน ฯลฯ โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเป็นกำลังใจสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งจะก่อผลสำเร็จสำคัญ เช่น การดำเนินงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เกิดยุวทูตการอ่านที่มีความรู้ความสามารถออกแบบและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านกว่า 6,115 คน เกิดครูแกนนำส่งเสริมการอ่าน 360 คน เกิดแกนนำชุมชนส่งเสริมการอ่าน 60 คน เกิดสถานศึกษาต้นแบบด้านการส่งเสริมการอ่าน จำนวน 117 โรงเรียน เกิดมุมการอ่าน พื้นที่การอ่านที่หลากหลายทั้งในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง รวมถึงเกิดนวัตกรรมส่งเสริมการอ่านที่มีสีสัน