สสส. เปิดตัว “นิทรรศการสืบสร้างสุข” ชวนเยาวชนสวมบทบาท “สายลับฝึกหัด” ไขคดีคนหายจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ หวังคนรุ่นใหม่มีความรอบรู้ด้านสุขภาวะ
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการ “สืบสร้างสุข” (Health Detective) นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่า พื้นฐานสำคัญในการป้องกันโรคคือ การสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานที่ สสส. ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) เน้นความสำคัญของปัญหาและสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ป้องกันและลดอัตราจากเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ปัจจุบันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ฉบับล่าสุด ปี 2557 พบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคในเพศชายมากที่สุดคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาสูบ ความดันโลหิตสูง ตามลำดับ ส่วนเพศหญิงคือ น้ำหนักเกิน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการดำเนินชีวิต ดังนั้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) จึงควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการแก้โจทย์นี้ ด้วยการริเริ่มจุดประกายนวัตกรรมจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ สร้างค่านิยมที่ดีกระตุ้นเด็กและเยาวชน ตลอดจนสาธารณชนเกิดความตระหนักปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ ในรูปแบบ “นิทรรศการสืบสร้างสุข” สอดแทรกแนวคิดและวิธีการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาวะ
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ฯ มีเป้าหมายในการขยายฐานผู้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และสื่อสารสู่สาธารณะ สร้างประสบการณ์และทักษะชีวิตให้ตระหนักถึงเรื่องสุขภาพ ปี 2563 พัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ ผ่าน “นิทรรศการสืบสร้างสุข” มุ่งปลูกฝังวัยเด็กให้มีศักยภาพ มีภูมิคุ้มกัน และความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านประสบการณ์ร่วม โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานให้เกิดการเรียนรู้ สวมบทบาทเป็น “สายลับฝึกหัด” ค้นหาสาเหตุคดีคนหายที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงโรค NCDs อาทิ บุหรี่ อุบัติเหตุ ความเครียดจากปัญหาการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย หรือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันในรูปแบบที่เข้าใจง่าย
ทั้งนี้ ภายในนิทรรศการจะแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ จำนวน 8 โซน ดังนี้
โซนที่ 1 นิทรรศการสุขภาวะ เริ่มต้นภารกิจองค์กรลับ “สืบ-สร้าง-สุข” เพื่อค้นหาร่องรอยการหายตัวไปของบุคคลทั้ง 8 ผ่าน 7 คดีปริศนา โดยคุณรับหน้าที่เป็นนักสืบฝึกหัด
โซนที่ 2 องค์กรลับสืบสร้างสุข จุดลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนของเหล่านักสืบฝึกหัดพร้อมรับอุปกรณ์ในการสืบหาร่องรอยของคดีต่างๆ
โซนที่ 3 ห้องเบาะแส ก่อนสืบคดีทั้ง 7 เหล่านักสืบฝึกหัดจะเข้ารับฟังข้อมูลและเบาะแสของคดีต่างๆ จาก The Boss หังหน้าองค์กรลับ ปริศนาเหล่านี้จะถูกคลี่คลายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถ การสังเกต และการวิเคราะห์ ของเหล่านักสืบฝึกหัด
โซนที่ 4 สถานที่เกิดเหตุ เริ่มภารกิจสืบสวนจากสถานที่เกิดเหตุทั้ง 7 คดี โดยแต่ละคดีจะมีเวลาให้นักสืบสังเกตพยานแวดล้อม ทั้งพยานวัตถุและพยานบุคคล คดีละ 3 นาที และนำข้อมูลที่พบเห็นเก็บบันทึกลงไปยังแฟ้มคดี
โซนที่ 5 ฐานบัญชาการ สรุปการสืบสวนสาเหตุที่แท้จริงของการหายตัวไปของบุคคลทั้ง 8 ใน 7 คดีปริศนา ที่มีสาเหตุจากปัญหาสุขภาวะ ที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-communicable Diseases)
โซนที่ 6 ศูนย์ปฏิบัติการสืบสร้างสุข เหล่านักสืบฝึกหัดยังมีภารกิจในการฝึกฝน และเรียนรู้วิธีเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผ่าน 7 ภารกิจเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี
โซนที่ 7 นักสืบรุ่นพี่ ค้นพบวิธีการของเหล่านักสืบรุ่นพี่ผ่านการเล่าเรื่อง ในการปรับเปลี่ยน พฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ และห่างไกลโรค NCDs
โซนที่ 8 จบหลักสูตร เสร็จสิ้นภารกิจของเหล่านักสืบฝึกหัด คุณได้เป็นนักสืบสร้างสุขเต็มตัวที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้กับตัวเองและคนรอบข้างได้
“นิทรรศการสืบสร้างสุข” เปิดให้บริการเข้าชมทุกวันจันทร์ ถึงวันเสาร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. (ปิดบริการวันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์) และเป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 วิถี New Normal อย่างเคร่งครัด ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ SOOK หรืออีเมล exhibition.thc@thaihealth.or.th