สสส.ร่วมกับจุฬาฯ และ สธ. หนุน “Single Window” ระบบแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ

0
1036
image_pdfimage_printPrint

สสส.ร่วมกับจุฬาฯ และ สธ. หนุน “Single Window” ระบบแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ แนะใช้แอปพลิเคชั่นผ่านมือถือช่วยดักจับแจ้งเตือนทั้งยาปลอมเครื่องสำอางปนเปื้อนอาหารเสริมผสมสารอันตราย ตั้งเป้าขยายการใช้งานครอบคลุมสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ 90 แห่งทั่วประเทศ
วันที่ 28 มกราคม 2559 ที่ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯนาม่วง ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ลงพื้นที่ชุมชนต้นแบบเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยการนำ “Single Window” หรือ “หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ” มาใช้ตรวจสอบคุณภาพ และความปลอดภัยของยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการขายในชุมชนและท้องถิ่น
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการตรวจพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสเตียรอยด์ทั้งในรูปของยาลูกกลอน หรือแม้แต่เครื่องดื่มสมุนไพร ชาหรืออาหารเสริมที่บอกว่าช่วยลดความอ้วนโดยใส่ตัวยาที่ อย.ห้ามใช้ ซึ่งล้วนเป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพ ในแต่ละปี รัฐต้องเสียค่ารักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยด้วยเหตุนี้มากกว่า 1,900 ล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์สุขภาพเหล่านี้ มีการโฆษณาหลอกลวงอวดอ้างสรรพคุณมากมายและยังมีการขายตรงถึงบ้านอีกด้วย ทำให้ประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อ สูญเสียทั้งเงินและเกิดปัญหาสุขภาพตามมามากมาย สสส. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุข จึงได้สนับสนุนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีชื่อว่า“Single Window หรือหน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ” เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับประชาชนในการเตือนภัยอันตรายดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนต่างจังหวัดที่มักจะไม่ได้รับข้อมูลการเตือนภัยต่างๆ
“Single Window” เป็นนวัตกรรมที่ให้ข้อมูลกับประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่ตรวจพบแล้วว่ามีอันตราย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจหลอกลวงเหล่านี้ ถือเป็นมาตรการส่งเสริมสุขภาพที่ดีด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนโดยประชาชนสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อันตรายได้จากเว็บไซต์ www.tumdee.org/alert/ และล่าสุดได้พัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นในมือถือทั้งระบบแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส(IOS) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรี โดยแอปฯ จะโชว์ชื่อและรูปภาพผลิตภัณฑ์อันตรายที่ไม่ควรซื้อมาบริโภค ปัจจุบันมีรายชื่อและภาพผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายมากกว่า 200 รายการ” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ริเริ่มพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวว่า ได้ร่วมกับ สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาฐานข้อมูล “ระบบแจ้งเตือนภัยและฐานข้อมูลคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” มาตั้งแต่ปี 2552 โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกันแจ้งข้อมูลสินค้าและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ตรวจยืนยันแล้วว่ามีอันตราย อาทิ ครีมทาหน้าขาว แคปซูลโสมสกัดผสมสมุนไพรจีน ผลิตภัณฑ์ส้มป่อยลดน้ำหนัก ฯลฯ โดยส่งข้อมูลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น รวมทั้งแจ้งตรงให้เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ กว่า 1,200 หน่วย ช่วยเฝ้าระวังในพื้นที่ ปัจจุบันมีสถิติผู้เข้าใช้งานฐานข้อมูลทางเว็บไซต์แล้วกว่า 70,000 คน และตั้งเป้าให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัคร รายงานข้อมูลการตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่เฝ้าระวัง เดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งจะขยายการเข้าถึงและรายงานข้อมูลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในพื้นที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ(สนอ.) 90 แห่งทั่วประเทศ ในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ ประชาชนที่พบสินค้าอันตราย หลอกหลวง สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี โทร. 045-312-230 หรือศูนย์เตือนภัยเฝ้าระวังรับเรื่องร้องเรียน และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯทุกแห่ง
ด้านนายศิริชัย สายอ่อน ผอ.สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯนาม่วง กล่าวว่า การเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับชุมชนของ ต.นาม่วง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ต้นแบบการใช้งานฐานข้อมูล Single Window ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของสมาชิกในชุมชนในรูปแบบพลัง 3 ประสาน ได้แก่ องค์กรปกครองท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และเครือข่าย อสม. โดยมีมติร่วมกัน คือ 1.ตั้งศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกหมู่บ้าน 2.ไม่ให้มีรถเร่ รถหนังขายยา หรือกลุ่มธุรกิจขายตรงโดยเฉพาะยาเข้ามาในชุมชน ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ต้องแจ้งขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านและผ่านการตรวจหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ โดย อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนก่อนจึงสามารถจำหน่ายสินค้าได้ 3.ติดตั้งป้ายเตือนภัยและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกหมู่บ้าน และ 4.พัฒนาสถานประกอบการ ร้านอาหาร ร้านแผงลอยจำหน่ายอาหาร ร้านขายของชำ และตลาดนัดให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลให้ประชาชนในชุมชนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวัง คัดกรองและแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจมีอันตรายและสารปนเปื้อนที่เข้ามาขายในท้องถิ่น และสามารถเข้าถึงข้อมูลตรวจสอบผลิตภัณฑ์อันตรายได้ด้วยตนเองตลอดเวลา ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นดังกล่าว