สสส.ขับเคลื่อนสุขภาวะเด็กไทย ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ

0
351
image_pdfimage_printPrint

IMG_25151

สสส.ขับเคลื่อนสุขภาวะเด็กไทย
ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ
สสส.นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “โครงการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่ายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน” โรงเรียนวัดสังฆราชาวาส และโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระนอนจักรสีห์ฯ กับการสร้างโอกาสเด็กยากจน ปลูกฝังทักษะอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตและลดพฤติกรรมเสี่ยงด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ และการนำร่องกิจกรรม 6 ดี ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อปลูกฝังสามเณรให้มีพฤติกรรมสุขภาวะดีจนเป็นนิสัย
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก4) สสส.กล่าวว่าการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตและเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะเรียนรู้เฉพาะในสถานศึกษาเท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะยังขาดการบูรณาการกับชีวิตแบบองค์รวม สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีภารกิจหลักในด้านการสร้างเสริมสุขภาพของเด็กและเยาวชน ทั้งด้านกาย จิต สังคม และปัญญา จึงสนับสนุนให้มีการนำแนวคิดดังกล่าว ทดลองนำร่องใน “โครงการนำร่องการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน” โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางการศึกษาวิทยาลัยครุศาสตร์ดำเนินการตั้งแต่ปี 2554-2555 ยึดหลักการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน บนพื้นฐานของการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามประเมินผลและร่วมชื่นชมผลสำเร็จที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพและมีความสุขในทุกระบบการศึกษา เรียนรู้เพื่อเข้าใจในท้องถิ่น รากเหง้า ศาสนาและวัฒนธรรมของตน มีพฤติกรรมสุขภาพรู้เท่าทันโลก เป็นพลเมืองที่ดี มีสัมมาชีพและมีสันติสุข
ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี หัวหน้าโครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่ายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าการดำเนิน “โครงการนำร่องการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน”ได้นำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงขึ้นจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน แต่ยังคงมีปัญหาด้านสุขภาวะในโรงเรียนและองค์กรที่จัดการศึกษาในชุมชน เช่น ปัญหาทุพโภชนาการ ปัญหาวัยรุ่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กติดเกม ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาในปี 2558 จึงได้มีการขยายการดำเนินงานภายใต้ “โครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่าย โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน” โดย สสส. ได้สนับสนุนโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ 40 เครือข่าย โรงเรียนเครือข่าย 211 โรงเรียน ศูนย์การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย 4 แห่ง และแหล่งเรียนรู้ 1 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สกลนคร สิงห์บุรี เพชรบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดำเนินโครงการตามเป้าหมายเฉพาะ 10 ปี ของ สสส. ตามประเด็นหลักสุขภาวะ ดังได้แก่ 1.การสร้างความตระหนักและการลดอัตราการสูบบุหรี่ 2.การสร้างความตระหนักและการลดอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.การส่งเสริมการสร้างค่านิยมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและถูกหลักโภชนาการ ลดภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในเด็ก 4. การสร้างความตระหนักและลดปัญหาสุขภาวะทางเพศ เป็นต้น เป้าหมายการดำเนินโครงการฯ คือ เด็กและเยาวชนในโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัยมีความรู้ ความเข้าใจ เกิดความตระหนักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น
นายกิตติชัย ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสังฆราชาวาส จ.สิงห์บุรี โรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่าโรงเรียนวัดสังฆราชาวาสเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่ได้เข้าร่วม “โครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่าย โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน” ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งทางโรงเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามเป้าหมาย 5 ด้านของ สสส. โดยการจัดฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับสุขภาวะ จำนวน 13 ฐาน เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ การเพาะเห็ด การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงไก่ การแยกขยะ การแปรรูปอาหาร ฯลฯ และให้ทุกโรงเรียนในเครือข่ายนำนักเรียนและครูมาเรียนรู้ โดยให้นักเรียนแกนนำลงมือปฏิบัติและเป็นวิทยากร การเรียนการสอนในแต่ละฐานครูผู้สอนจะใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนพัฒนาทักษะ กระบวนการคิดและนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้จัดทำคู่มือเอกสารประกอบการสอนเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 13 ฐาน ให้แก่ครูโรงเรียนเครือข่ายนำกลับไปใช้สอนที่โรงเรียน และเน้นให้นักเรียนปฏิบัติตนตามสุขบัญญัติ 10 ประการ ได้แก่ รับประทานอาหารกลางวัน ครบ 5 หมู่ ดื่มนม สำหรับนักเรียนที่มีภาวะโรคอ้วน จะมีการทำ MOU ในการดูแลนักเรียนเรื่องการรับประทานอาหารกับผู้ปกครองให้นักเรียนออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิค ไม่ดื่มน้ำอัดลม งดของหวาน ออกกำลังกาย เพื่อเป็นการลดภาวะโรคอ้วน เป็นต้น
ด้าน พระครูสิริปริยัติคุณผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระนอนจักรสีห์ วรวิหารและอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดสิงห์บุรีกล่าวว่าปัจจุบันวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหารมีสามเณรจำนวน 80 รูป จำพรรษาและเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งมาจากหลายจังหวัดของประเทศไทย และเป็นชาวไทยภูเขาบางส่วน ซึ่งมีวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน ไม่ได้ให้ความสนใจและไม่มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการดูแลรักษาอนามัยส่วนตน ฉันภัตตาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่รู้จักทำความสะอาดกุฏิที่พักและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งไม่รู้จักดูแลรักษาห้องน้ำ ห้องส้วมให้สะอาด ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของสามเณร ทำให้หลายรูปเจ็บป่วยบ่อย มีน้ำหนักส่วนสูงไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
ทางวัดพระนอนจักรสีห์ฯจึงได้นำร่องจัดกิจกรรม “สุขภาวะที่ดี ชีวีสดใส ด้วยกลวิธี 6 ดี”เพื่อปรับพฤติกรรมสุขภาวะแก่สามเณรภายในวัด และเป็นการทำความดีเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย โดยการปฏิบัติกิจกรรม กลวิธี 6 ดีซึ่งประกอบด้วย 1.) กุฏิที่พักดี หมายถึง การทำความสะอาดที่พักและห้องสำหรับจำวัดของสามเณรให้สะอาดปราศจากฝุ่นละออง จัดสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และจัดบรรยากาศให้น่าอยู่ 2.) เครื่องนุ่งห่มดี หมายถึง การทำความสะอาดจีวรและเครื่องอัฐบริขาร เครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับสามเณรและจัดเก็บให้เรียบร้อย ปราศจากกลิ่นอับ 3.) ภัตตาหารดี หมายถึง ภัตตาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เก็บล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใส่ภัตตาหาร เช็ด ตากให้แห้งและเก็บเข้าที่ให้เรียบรอย ทำความสะอาดโรงครัวและห้องครัวให้เรียบร้อย 4.) ห้องเรียนดี หมายถึง การดูห้องเรียนให้สะอาด จัดบรรยากาศห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ จัดป้ายนิเทศให้เป็นระเบียบ และเก็บทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ในห้องเรียนให้เรียบร้อย 5.) ห้องน้ำดี-ห้องส้วมดี หมายถึง การทำความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมให้สะอาดปราศจากลิ่น ต้องมีลักษณะ “แห้ง หอม สะอาด” ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.) กิจวัตรดี หมายถึง การทำวัตรสวดมนต์ตามภารกิจของสามเณรในช่วงเช้าและช่วงเย็น สวดมนต์ให้พร้อมเพรียงกัน มีจังหวะมีท่วงทำนองที่ชวนฟังและกราบพระถูกวิธี อย่างไรก็ตามการดำเนินกลวิธี 6 ดีของวัดพระนอนจักรสีห์ฯยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งจะค่อยๆทำไปทีละกิจกรรมและทีละขั้นตอน โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น พระ แม่ชี ฆราวาส รพ.สต. ฯลฯ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่ปลูกฝังให้สามเณรมีสุขภาวะที่ดี
ดร.สรรเสริญ สุวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคกลาง โครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่าย โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ทาง สสส.ได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพสามเณรและได้เห็นถึงศักยภาพของวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหารที่มีจุดเด่นคือชุมชนและเครือข่ายในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมที่วัดดำเนินการ โดยเฉพาะกิจกรรมสุขภาวะดี ชีวีสดใส ด้วยกลวิธี 6 ดี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการดูแลสุขภาพ ประกอบกับอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯมีความต้องการที่จะใช้กิจกรรมนี้แก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะและปลูกจิตสำนึกของพระและสามเณรในวัด โดยได้มีการปรึกษากับพระเทพปริยัติสุธี เจ้าอาวาสพระนอนจักรสีห์วรวิหาร และเป็นเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นคณะจังหวัดสิงห์บุรี และได้ระดมความคิดเห็นจากพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และฆราวาส ว่าจะทำให้วัดพระนอนจักรสีห์ฯ เป็นวัดในอุดมคติของญาติโยม ด้วยกลวิธี 6 ดี เริ่มจากการสำรวจสิ่งที่ควรปรับปรุงพฤติกรรมและสุขนิสัยของสามเณร ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถปลูกฝังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายและได้ร่วมกับพระที่ทำหน้าที่เป็นครูสอน แม่ชี และฆราวาส จัดทำกิจกรรม “สุขภาวะที่ดี ชีวีสดใส ด้วยกลวิธี 6 ดี” ให้แก่สามเณรทั้ง 80 รูป มีพระในวัดเป็นพี่เลี้ยงและเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติกิจกรม “สุขภาวะที่ดี ชีวีสดใส ด้วยกลวิธี 6ดี” โดยทาง สสส.ให้การสนับสนุน ทุนในการปรับปรุงห้องเรียน ห้องน้ำ รวมทั้งการจัดพิมพ์คู่มือสุขภาวะดี สมุดบันทึกความดี (ตามกลวิธี 6 ดี) เป็นต้น