1

สสว.และสถาบันอาหาร ผนึกพันธมิตร ปั้นเอสเอ็มอีท้องถิ่นสู่ตลาดอินเตอร์

สถาบันอาหารจับมือพันธมิตรเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มอาหารถิ่น สมุนไพร และเครื่องสำอาง เน้นสร้างจุดเด่นด้านดีไซน์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการเก็บรักษา พัฒนามูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ของท้องถิ่น หวังสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการให้แข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน

นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล” เพื่อพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง เพื่อต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ของผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญของการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ก่อให้เกิดเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่มีเอกลักษณ์ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ในการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และพัฒนาทักษะความรู้ของบุคคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี
“ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นมีความน่าสนใจและอรรถประโยชน์มากมาย แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สมุนไพร หรืออาหารถิ่น เนื่องจากยังขาดพัฒนารูปลักษณ์ให้สวยงาม ดึงดูดตาและการประชาสัมพันธ์เผยแพร่คุณประโยชน์ให้เกิดกระแสความนิยมจนสามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดได้มากเท่าที่ต้องการ
ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์บางกลุ่มที่ได้รับการพัฒนาให้มีความน่าสนใจจนสามารถเป็นสินค้าของฝากของ ที่ระลึกได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตขายในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากขาดการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อการรับรู้ (Awareness) และความสนใจ (Interested) ของกลุ่มเป้าหมาย จนทำให้เกิดความอยากลองซื้อสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของแต่ละท้องถิ่นนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการฯ ดังกล่าว โดยเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการคิดวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการเก็บรักษา ให้มีเอกลักษณ์สามารถผลิตและขายได้ในเชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน” นางนิตยา กล่าว
สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการฯ นั้น คณะผู้ดำเนินการจะร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ การคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากทั่วประเทศเข้ารับการพัฒนาและอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้พื้นฐานด้านมาตรฐานสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยการใชนวัตกรรม เทคโนโลยีและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกันให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 2,000 ราย และจะคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเหมาะสมเข้าสู่การพัฒนาเชิงลึกไม่น้อยกว่า 1,000 ผลิตภัณฑ์
“หลังจากการพัฒนาเชิงลึกให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว ยังมีการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไปเปิดตลาดการค้าทั้งในและต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีช่องทางตลาดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งคาดว่าโครงการฯ นี้จะก่อให้เกิดรายได้กับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี” นางนิตยา กล่าวโดยสรุป