ประชุมวิชาการ วทร. 21 รวมพลครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีทั่วไทย
ผสานงาน ISMTEC2013 แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการขั้นนำ และครู นักศึกษาจาก 5 ทวีปทั่วโลก
ชูประเด็น “มิติใหม่ของการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อทักษะในศตวรรษที่ 21”
5 พฤศจิกายน 2555 – สสวท. เปิดมิติใหม่การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หวังสนับสนุนครูให้ยกระดับการเรียนการสอน รู้ทัน ICT มาประยุกต์ใช้ในการสอน และการประเมินผลงานอย่างทั่วถึง ภายใต้การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ครั้งที่ 21 ในหัวข้อ “มิติใหม่ของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีศึกษา” ที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17 – 20 มกราคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ จึงขอเชิญชวนครู บุคลากรทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งผู้สนใจ สมัครเข้าร่วมงานดังกล่าว ดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ http://www.ismtec2013.org/thai/ หรือ โทร. 02-392-4021 ต่อ 3205
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทลประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท. มีภารกิจหลักในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานต่าง ๆ จัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน (วทร.1) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ครูผู้สอนในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนตลอดจนพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ และเสนอผลงานทางวิชาการ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบสนองวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย 3 R คือ การอ่าน การเขียน และ คณิตศาสตร์ และ4 Cคือ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การร่วมมือ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี (ICT) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูผู้สอนในปัจจุบัน ต้องเรียนรู้เพื่อใช้ในการสอน รวมถึงการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่มากกว่าหนังสือเรียนและการบรรยายในชั้นเรียน
และในปีนี้หลายหน่วยงานได้ตื่นตัวสำหรับการเตรียมความพร้อม เพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี พ.ศ. 2558 สสวท. จึงร่วมกับสมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวคท.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ในโรงเรียนครั้งที่ 21 (วทร.21) ซึ่งเป็นการประชุมนานาชาติครั้งแรกของ วทร. ในหัวข้อ ““มิติใหม่ของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีศึกษา” หวังเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดเกี่ยวกับการยกระดับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลตั้งแต่ระดับก่อนอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 อีกทั้งเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู รวมไปถึงการใช้ ICT กับการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ พร้อมการประเมินผล
การเรียนรู้ของเด็ก และการสอนของครู แล้วครูยังต้องสามารถทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อนำผลการวิจัยนั้นมาพัฒนาการสอนของตน สามารถเผยแพร่และแลกเปลี่ยนผลงานนั้นให้แก่เพื่อนครูและบุคลากรในภูมิภาคด้วย
“ผมเชื่อว่าการมาพบปะเรียนรู้ร่วมกันของเพื่อนร่วมวิชาชีพในงานนี้จะสร้างกำลังใจ เสริมแรงบันดาลใจ และเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงานทั้งจากในและต่างประเทศ เพื่อเป้าหมายสำคัญในงานของครูและเป้าหมายสากลของการจัดการศึกษา นั่นก็คือการเตรียมเยาวชนให้พร้อมในการใช้ชีวิตและการทำงาน ผ่านมิติใหม่ของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา” ประธานกรรมการ สสวท. กล่าว
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า “งาน วทร. เป็นเวทีสำคัญของครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ นำเสนอผลงานทางวิชาการและการทำวิจัยในชั้นเรียน มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ คลินิกวิชาการ บรรยาย เสวนาเด่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้มแข็งทั้งวิชาการและการจัดการเรียนการสอน สามารถนำนวัตกรรมใหม่ๆ ไปปรับใช้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของสสวท. ที่มุ่งยกระดับคุณภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยมีครูเป็นปัจจัยหลักในการเข้าถึงความสำเร็จของผู้เรียน”
“ไฮไลท์ในการประชุมครั้งนี้ มีทั้งวิทยากรรับเชิญที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีศึกษา ทั้งในระดับชาติ และในระดับโลก มาจัดกิจกรรมทั้งการบรรยายวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัย และการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในขณะเดียวกันสิ่งที่การประชุม วทร. ทุกครั้งมุ่งเน้นเห็นความสำคัญเสมอมา คือการมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มาในงาน นอกจากนั้นการจัดกิจกรรมในปีนี้ยังมีการถ่ายทอดสดกิจกรรมวิชาการที่สำคัญภายในงานไปสู่ครูและผู้ที่สนใจผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีผู้นำเสนอจากต่างประเทศที่นำเสนอผ่านทางระบบ VDO conference ในบางรายการด้วย”
นางดวงสมร คล่องสารา นายกสมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวคท.) กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ครูอาจารย์ และนักศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอผลงานวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนานาประเทศ และนำไปสู่การเป็นเครือข่ายและพัฒนาวิชาชีพที่ดีได้ในอนาคต ให้ประเทศไทยมีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทย เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียน
นอกจากนั้น ส่วนสำคัญและเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน วทร. 21 ก็คือการจัดประชุมวิชาการ The International Science, Mathematics and Technology Education Conference 2013 (ISMTEC2013) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีในระดับนานาชาติ
Mr. John R. Stiles ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา ที่ปรึกษา สสวท. กล่าวถึง การประชุมวิชาการนานาชาติ ISMTEC2013 ในงาน วทร. 21 ว่ามีเป้าหมายที่จะนำนักการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์กับครูและนักวิจัย เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน เติมสีสัน ความสนุกตื่นเต้น ให้กับเด็กๆ ในชั้นเรียน กิจกรรมในการประชุมมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการนำเสนอรายงานการวิจัย การแนะนำโครงการต่างๆ จากหลากหลายประเทศที่มีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยการปรับเปลี่ยนหลักสูตร หรือวิธีการจัดการเรียนการสอน นอกจากนั้นยังมีการจัดการอบรมปฏิบัติการที่ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถทดลองปฏิบัติจริง พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างใกล้ชิดกับวิทยากร อีกทั้งยังมีการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ที่นำเสนอวิธีการจัดการเรียนการสอน งานวิจัย และโครงการด้านการศึกษาต่างๆ ที่น่าสนใจจากหลากหลายทั้งจากประเทศในเอเชีย สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอเมริกาใต้
ครูที่เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์อย่างน้อย 3 ประการจากการมาร่วมงาน ISMTEC2013 ประการแรกคือได้เรียนรู้จากนักการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีศึกษาชั้นนำของโลก ประการที่ 2 คือได้สร้างเครือข่ายกับครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพจากทั่วโลก ในบรรยากาศที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อจะเป็นพื้นฐานสำหรับการประสานงานกันในการปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนต่อไปในอนาคต ประการที่ 3 การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีมากที่ครูจะมานำเสนอผลงานในเวทีโลก ซึ่งเป็นประสบการณ์สำคัญที่จะสร้างเสริมความเป็นผู้นำในเชิงวิชาการร่วมกับเพื่อนครูและอาจารย์จากหลากหลายประเทศ
Mr.John R.Stiles กล่าวต่อไปว่า “ผู้บรรยายพิเศษในงานนี้มีความโดดเด่นอย่างยิ่ง ทั้ง ดร.รอน บอนสเตตเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเนบราสกา ซึ่งเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ คุณมีชัย วีระไวทยะ คนไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกเกี่ยวกับการเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู่การปฏิบัติจริงในระดับชุมชน จะจัดกิจกรรมทั้งการบรรยายพิเศษและการอบรมเชิงปฏิบัติการ ดร.อาร์เธอร์ ไอเซนคราฟท์ นักการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมาก และยังเป็นอดีตนายกสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐฯ ก็จะมาร่วมบรรยายเกี่ยวกับความสำคัญและเทคนิคการใช้คำถามในชั้นเรียน ตลอดจนผู้บรรยายพิเศษรับเชิญอีก 17 คน ซึ่งจะจัดกิจกรรมวิชาการถึง 39 รายการตลอดระยะ 3 วันของการประชุม ร่วมด้วยกิจกรรมวิชาการจากครูและนักศึกษาจาก 5 ทวีปทั่วโลกที่สมัครมานำเสนอในงานนี้ด้วย”
+++++++++++++++++++++++