สวรส. ระดมเครือข่ายวิจัยระบบสุขภาพ มุ่งเป้ายกระดับคุณภาพงานวิจัย
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ โดยมี ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สวรส. เป็นประธานที่ประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในระบบสุขภาพ อาทิ สำนักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์นโยบายและจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหาสารคาม หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โครงการจัดตั้งวิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ ม.นเรศวร เครือข่าย R2R อุบลศรีโสธรเจริญ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เป็นต้น ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สวรส. กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขในประเทศไทยยังมีปัญหา แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจในระดับเดียวกัน ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการที่ดีกว่า ความสำคัญของการทำงานพัฒนาระบบสาธารณสุขส่วนหนึ่ง คือความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตบุคลากร ระบบบริการ มหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องขยายความร่วมมือ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้มากขึ้น สวรส. ในฐานะที่เป็นองค์กรบริหารจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพ จึงควรเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานแบบเครือข่ายที่เป็นระบบและยกระดับคุณภาพงานวิจัยสู่การพัฒนาระบบสุขภาพต่อไป
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ประเทศที่สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้ ประเทศนั้นต้องมีการวิจัยโดยการวิจัยที่ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างชาญฉลาด คุ้มค่า และช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศได้ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของหน่วยงานวิจัยเพื่อการบูรณาการการทำงานและแบ่งปันทรัพยากร สอดคล้องกับแนวคิดของ สวรส. รวมทั้งการยกระดับงานวิจัยสู่การวิจัยเชิงระบบของสถาบันการศึกษา
“สวรส. จะเป็นตัวกลางประสานอำนวยการให้เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการยกระดับงานประจำสู่งานวิจัย หรือ R2R (Routine to Research) สู่การเป็นการวิจัยจากงานประจำสู่การเป็นนโยบาย หรือ R2P (Routine to Policy) การต่อยอดศักยภาพนักวิจัย การสร้างแรงจูงใจ ตลอดจนการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ รวมทั้งการผนวกความร่วมมือกับหน่วยงานศักยภาพ และการจัดการกลไกต่างๆให้เอื้อต่อการทำงาน โดยมีเป้าหมายการทำงานเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ ที่จะสร้างงานวิจัยที่จะเป็นทิศทางการพัฒนาที่สำคัญของประเทศ ภายใต้การทำงานร่วมกันของเครือข่ายฯ ที่จะนำไปสู่การจัดระบบสุขภาพของประเทศได้” นพ.พีรพล กล่าว
ด้าน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ย้ำว่า งานวิจัยที่มีคุณภาพต้องมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ชัดเจน การทำงานแบบเครือข่าย เช่น การนำเสนอข้อมูลผลงานวิจัยในเรื่องหรือในทิศทางเดียวกัน จะทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าหน่วยงานใดที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ข้อเสนอจากการประชุมครั้งนี้ทำให้ได้เห็นรูปแบบการดำเนินงานของแต่ละเครือข่ายวิจัยในระบบสุขภาพ และเห็นโอกาสของการทำงานร่วมกันในอนาคต
ในที่ประชุมยังได้มีการนำเสนอรูปธรรมการทำงานวิจัยเชิงระบบและนโยบายสุขภาพ โดยผู้เข้าร่วมได้ร่วมแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อรูปการทำงานเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ โดยในระยะต่อไป เพื่อขยายแนวคิดเครือข่ายการวิจัยฯ โดยประสานหน่วยงานอื่นๆ และจัดประชุมระดมความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้น ตลอดจนการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาแนวทางการทำงานของเครือข่ายวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพต่อไป