สวรส. นำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัยทางการแพทย์

0
500
image_pdfimage_printPrint

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัยทางการแพทย์ ภายใต้แนวคิด “25 ปี สวรส. สู่ระบบสุขภาพไทยในอนาคต” ในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย เมื่อวันที่ 18-20 ก.ค.61 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ภารกิจของ สวรส. ในอีกบทบาทหนึ่งนอกเหนือไปจากการบริหารจัดการงานวิจัยแล้ว การผลักดันให้งานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์สาธารณสุข ยังมีความสำคัญ ทั้งการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบาย โดยส่งเสริมให้เกิดเป็นกฎหมาย มาตรการหรือแนวทางสำคัญของระบบสุขภาพ การผลักดันสู่เชิงพาณิชย์เพื่อลดการนำเข้าและค่าใช้จ่ายของประเทศ ตลอดจนการสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนหรือนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ การนำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัยทางการแพทย์ภายในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสื่อสารสู่สาธารณะ รวมถึงโอกาสของการนำสู่ระดับนโยบาย ซึ่งตัวอย่างงานวิจัยที่นำมาเสนอระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค. นั้น ส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัย เช่น เครื่องมือช่วยวินิจฉัยและติดตามรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเด็กไทย เครื่องมือคัดกรองไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนเพื่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 วัสดุปิดแผลไฟโบรอินผสมวุ้นว่านหางจระเข้เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน ชุดตรวจพยาธิโรคเท้าช้าง ฯลฯ ตลอดจนการนำเสนอโมเดลของระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอีก 20 ปี ข้างหน้าจากผลงานวิจัยจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อวิจัยด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย เพื่อรองรับการปฏิรูปด้านสุขภาพของประเทศในอนาคต
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาเครื่องมือช่วยวินิจฉัย คัดกรองและติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน กล่าวว่า “พาร์กินสัน” เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้มากกว่าร้อยละ 50 ในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ตรวจรักษา โดยมีการตรวจประเมินทางคลินิกร่วมกับการใช้แบบประเมินอาการที่เรียกว่า Unified Parkinson’s Disease Rating Scale (UPDRS) ที่ใช้ได้กับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น ทำให้ UPDRS ถูกจำกัดใช้อยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ทั้งยังพบว่ามีความคลาดเคลื่อนจากการให้คะแนนที่ไม่ตรงกันของผู้ประเมินอีกด้วย
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบายว่า โรคพาร์กินสันนั้นมีอาการสั่นที่จำเพาะ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือในการตรวจวัดและวิเคราะห์อาการสั่นของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันขึ้น ประกอบด้วยชุดสัญญาณการเคลื่อนไหวที่สามารถบันทึก วิเคราะห์ แสดงผลสัญญาณในเชิงเวลา ความถี่การสั่น และค่าการสั่นในแกนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อุปกรณ์ดังกล่าวที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะที่ใช้งานได้ง่ายทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์โดยทั่วไปที่อาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ และใช้เวลาการตรวจที่สั้น เสร็จภายใน 10 นาที และมีความปลอดภัยกับผู้ใช้ สามารถถ่ายโอนผลข้อมูลจากการวัดไปยังระบบจัดเก็บได้ง่าย สำหรับผลจากการทดสอบเครื่องมือฯ พบว่า สามารถใช้ประเมินลักษณะอาการสั่นได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยแพทย์ผู้ทำการรักษาประเมินว่าอาการสั่นของผู้ป่วยนั้นมีความเป็นไปได้ของโรคพาร์กินสันนั้นมากน้อยเท่าไหร่ และยังใช้ประเมินอาการทางการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆร่วมกับแบบประเมินมาตรฐาน UPDRS ได้อีกด้วย ช่วยลดความคลาดเคลื่อนของการให้คะแนน โดยการตรวจวัดให้ผลถูกต้อง รวดเร็ว ช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำขึ้น และไม่ทำให้หลงทางในการรักษา ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวได้มีการจดสิทธิบัตรในชื่อ “ระบบคัดแยกโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติจากอาการสั่น”
ทางด้าน ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัยประเมินผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุเด็กเล็ก เผยว่า ปัญหาการมีฟันผุตั้งแต่วัยเด็กทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุและมีผลต่อเนื่องถึงฟันแท้ กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวเป็นการต่อยอดการศึกษา ติดตามผลของนมผงโพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 ป้องกันฟันผุในกลุ่มเด็กเล็กที่ยังไม่มีฟันผุหรือมีฟันผุเริ่มแรก โดยหาความถี่และระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับนมผสมโพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ผลการศึกษาพบว่า การได้รับนมผงโพรไบโอติกมีผลในการป้องกันฟันผุเริ่มแรก คือ กลุ่มที่ได้นมโพรไบโอติก แบบต่อเนื่อง และกลุ่มที่ได้รับ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มีอัตราในการเกิดฟันผุใหม่และฟันผุลุกลามที่เคลือบฟันน้อยกว่ากลุ่มที่ได้นมไม่มีโพรไบโอติก ซึ่งการชะลอการเกิดฟันผุใหม่และการยับยั้งฟันผุลุกลาม ทำให้ฟันผุเริ่มแรกเปลี่ยนไปเป็นฟันปกติได้ ดังนั้นการได้รับนมโพรไบโอติกเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ มีความเพียงพอในการป้องกันฟันผุได้ ปัจจุบันโพรไบโอติกชนิด Lactobacillus paracasei SD1 ได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถป้องกันฟันผุได้ และมีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี โพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 แก่ บริษัท เกร็ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด และอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี Lactobacillus rhamnosus SD11 แก่ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด เพื่อผลิตขายภายในประเทศ”
นพ.สมัย ศิริทองถาวร นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มแรกสำหรับเด็กไทย กล่าวว่า ภาวะออทิสซึม เป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ ในประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีเด็กประมาณ 3.7 แสนคนที่มีภาวะดังกล่าว แต่เข้าถึงการรักษาอยู่เพียง 15% หากเด็กได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยภาวะออทิสซึม ต้องวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลานานในการตรวจวินิจฉัยโดยการสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ส่งผลให้เด็กเข้าสู่ระบบการรักษาช้า และบางส่วนหายไปจากระบบการติดตามประเมินจึงขาดความต่อเนื่องในการรักษา
นพ.สมัย กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้พัฒนาเครื่องมือประเมินเพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มต้นของเด็กไทย โดยนำผลในการประเมินทางพฤติกรรมด้านการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเล่น และพฤติกรรมซ้ำๆ กับผลการสังเกตุของผู้ปกครองด้านพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก มาใช้ร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งทำให้การวินิจฉัยแม่นยำ และรวดเร็วขึ้น ส่งผลดีเพื่อการบำบัดรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ปัจจุบันเครื่องมือนี้สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องมือในระบบคัดกรองพัฒนาการเด็กของกระทรวงสาธารณสุข และผ่านการทดสอบประสิทธิผลในการนำไปใช้ในพื้นที่จริง เทียบเคียงได้กับเครื่องมือในระดับนานาชาติ โดยมีราคาถูกกว่าเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญเป็นลิขสิทธิ์ของประเทศไทยจึงสามารถขยายผล และบุคลากรทางด้านจิตเวชเด็กสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ติดเงื่อนไขลิขสิทธิ์ทางปัญญา
นอกจากนี้ สวรส. ยังมีการแสดงผลงานวิจัยอื่นๆ อีกมากมายภายในงาน โดยมีบุคลากรสาธารณสุข ตลอดจนประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจและเข้าร่วมเป็นสมาชิกคลังข้อมูลระบบสุขภาพของ สวรส.