สวรส. จับมือ ม.วลัยลักษณ์ ผนึกกำลังตั้ง “ศูนย์วิจัยด้านระบบสุขภาพและการแพทย์”

0
697
image_pdfimage_printPrint

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินงานของ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (Center of Excellence in Health System and Medical Research [CE-HSMR])” (ในพื้นที่เขต 11) มุ่งตอบสนองการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางเติมเต็มช่องว่างความรู้ด้านสุขภาพและการแพทย์ พัฒนาโจทย์วิจัยเชื่อมต่อจากระดับพื้นที่สู่ระดับประเทศ พร้อมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายจากความรู้งานวิจัยควบคู่กับการพัฒนานักวิจัยหน้าใหม่ โดยได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สวรส. โดย นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผอ.สวรส. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 ณ หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาคาร SM Tower ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการวิจัยในรูปแบบของการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายนักวิชาการ ผ่านการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ สำหรับการวิจัยด้านระบบสุขภาพนั้น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (CE-HSMR) ขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมโยงงานวิชาการ นวัตกรรมสร้างสรรค์ในสถาบันอุดมศึกษากับการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ ศูนย์ความเป็นเลิศต่างจากหน่วยวิจัยทั่วไปคือ มุ่งเน้นการนำความรู้จากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ได้จริง และต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ ตลอดจนมุ่งเน้นทำวิจัยในลักษณะการสะสมและต่อยอดองค์ความรู้ สามารถเกาะติดประเด็นวิจัยที่สำคัญ ทันต่อสถานการณ์ เพื่อการตอบโจทย์และแก้ปัญหาด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ CE-HSMR อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนเชิงนโยบาย การสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ การบริหารจัดการและงบประมาณ ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินงานของ CE-HSMR สามารถสร้างงานวิจัย สร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง นำไปสู่การเสนอองค์ความรู้เพื่อการจัดการเชิงระบบ หรือต้นแบบการพัฒนาระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยเน้นความต้องการของผู้ใช้เป็นสำคัญ

ด้าน นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สถาบันการศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ นับเป็นศูนย์กลางและแหล่งทรัพยากรที่มีทั้งองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการวิจัยสาขาต่างๆ ซึ่ง สวรส. ได้มีการทำงานเชื่อมกับภาคีวิจัยที่เป็นสถาบันการศึกษามาโดยตลอด หากแต่ยังไม่เกิดกลไกที่ชัดเจนและยั่งยืนในการสนับสนุนมากนัก ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนโยบายการสนับสนุนงานด้านการวิจัยที่ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของ สวรส. และยังเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบวิจัยของประเทศอีกด้วย ความร่วมมือของ สวรส. และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในครั้งนี้ จึงนับเป็นความร่วมมือที่มีแนวโน้มของความสำเร็จค่อนข้างสูง โดย สวรส. ได้มีแผนดำเนินงานในการร่วมสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนงบประมาณ การสนับสนุนด้านการพัฒนาศักยภาพ การบริหารจัดการงานวิจัย การพัฒนาระบบวิจัย และการสร้างเครือข่ายวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งเป้าให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบในเชิงสุขภาพและระบบสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ ประเภทงานวิจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาสุขภาพและระบบสุขภาพ ได้แก่ การวิจัยด้านกำลังคนและรูปแบบการจัดบริการสุขภาพ การวิจัยด้านการคลังระบบสุขภาพ ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ระบบยาและอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนธรรมาภิบาลและการบริหารระบบสุขภาพ นอกจากนั้นยังรวมถึงการวิจัยด้านระบาดวิทยาและปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพด้วย ซึ่งในการทำวิจัยอาจเป็นการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อสร้างความรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์สุขภาพหรือการปรับปรุงระบบสุขภาพก็ได้ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการวิจัยเชิงนโยบายและระบบสุขภาพ (Policy and Health Systems Research) หรืออาจเป็นการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ช่วยการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ (Implementation Research)

“งานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ เป็นงานที่ต้องมีการทำงานเชื่อมโยงระหว่างสหวิชาชีพ และร่วมมือกันระหว่างสถาบันและทุกภาคส่วน ดังนั้นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ จึงนับเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดการสร้างและพัฒนาความรู้ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาข้อเสนอที่ตอบโจทย์ความต้องการและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม” นพ.พีรพล กล่าว

อนึ่ง การลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป โดยความร่วมมือดังกล่าว นอกจากจะเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของทั้งสองสถาบัน ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัย การบริหารจัดการงานวิจัย และด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย