กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ขยายผลแนวคิดการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก “โครงการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีทีเชื่อมโยงเส้นทางอาชีพ” แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในอนาคต ประยุกต์ใช้การเรียนรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ผ่านการฝึกทักษะในการประกอบอาชีพโดยเอกชนร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เตรียมแรงงานทักษะฝีมือที่นำศาสตร์ความรู้ด้าน STEM มาประยุกต์และแก้ปัญหาพร้อมทั้งเสริมทักษะการทำงานให้เป็นมืออาชีพตั้งแต่วัยเรียน สวทน. เตรียมส่งเด็กม.ต้น โรงเรียนแม่อายวิทยาคม โชว์การฝึกปฏิบัติ STEM ผ่านการทอผ้าและปั่นฝ้าย ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 14 – 25 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “โครงการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีที่เชื่อมเชื่อมโยงเส้นทางอาชีพ” มีเป้าหมายเพื่อดึงเอาภาคการผลิตและบริการในพื้นที่เข้ามาถ่ายทอดทักษะการทำงานและเชื่อมองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพเข้ากับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ให้แก่เยาวชนในกลุ่มโรงเรียนชายขอบที่มีโอกาสไม่เรียนต่อสูง เมื่อออกจากระบบการศึกษาสามารถเข้าสู่อาชีพได้ทันทีโดยเฉพาะอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น ต่อยอดให้บุคลากรเหล่านี้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีทักษะและความชำนาญในการทำงานที่เข้มแข็งสามารถตอบสนองภาคการผลิตและบริการที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตและนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาตัวเองในเส้นทางอาชีพการทำงาน สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล โดย สวทน. ได้นำร่องจัดรูปแบบการเรียนและฝึกปฏิบัติให้แก่โรงเรียนระดับมัธยมต้นในภาคเหนือ ได้แก่ โรงเรียนแม่อายวิทยาคม โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก และโรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบริษัทเอกชน คือ บริษัทเพียรกุศลไหมและฝ้าย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดห้องเรียนวิชา “การผลิตเส้นใยธรรมชาติและแฟชั่น” โดยเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่ชั้นม.1 ถึง ม.3 ในห้องเรียนดังกล่าวเด็กจะเรียนรู้และฝึกทักษะการทำงาน ผ่านกิจกรรมการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การฝึกทอ ออกแบบลายผ้า จนถึงขั้นการขายและการสร้างเครือข่ายการทำงาน โดยเชื่อมโยงกิจกรรมกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งการประยุกต์ความรู้ การแก้ปัญหางาน การสายการผลิตและการส่งต่องาน เช่น การจัดทำตารางสถิติการเจริญเติบโตของหม่อน และตัวไหม การทดสอบอุณหภูมิของน้ำในการต้มรังไหม การตรวจวิเคราะห์ดิน การฝึกการแก้ไขเครื่องมือเมื่อเกิดปัญหาจากกี่ทอผ้า เป็นต้น อาจารย์ประจำกลุ่มสาระวิชาต่างๆ ที่ได้รับการฝึกหลักสูตรการสอนโดยเฉพาะ จะใช้การฝึกทักษะการผลิตเส้นใยธรรมชาติ สอดแทรกวิชาให้กับเด็กในห้องเรียน ทำให้เด็กเข้าใจพื้นฐานวิชาสามารถเชื่อมโยงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM)เข้ากับการใช้งานจริง ควบคู่กับความสนุกในการฝึกทักษะอาชีพ สอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น การตลาด สินค้าที่เด็กผลิตได้ ยังสามารถขายเข้าสู่ตลาดท้องถิ่นได้อีกด้วย