สวก. (ARDA) จัด “ประชุมชี้แจงกรอบการวิจัย สวก. ประจำปีงบประมาณ 2563” พร้อมประกาศปรับบทบาท บริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมการเกษตรของทั้งประเทศ

0
386
image_pdfimage_printPrint

สวก. (ARDA) จัด “ประชุมชี้แจงกรอบการวิจัย สวก. ประจำปีงบประมาณ 2563” พร้อมประกาศปรับบทบาท บริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมการเกษตรของทั้งประเทศ

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. (ARDA) ได้จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัย สวก. ประจำปีงบประมาณ 2563 ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย พร้อมชู 7 คลัสเตอร์การเกษตรไฮไลท์ ได้แก่ ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, อาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและการค้า, พืชสวนพืชไร่, สมุนไพรไทย, สัตว์เศรษฐกิจ และ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นอกจากนั้นยังมุ่งนำเสนอการปรับบทบาทของ สวก. ในการดูแลรับผิดชอบโครงการวิจัยด้านการเกษตรครอบคลุมทุกคลัสเตอร์ในอนาคตอันใกล้ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการการวิจัยภาคการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีนักวิจัย นักวิชาการ และผู้ประกอบการด้านการเกษตรของไทยให้ความสนใจลงทะเบียนร่วมงานจำนวนกว่า 800 ราย

เพื่อให้พันธกิจของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. (ARDA) ในฐานะหน่วยงานให้ทุนส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร และส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยการเกษตร เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมและพัฒนาต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน สวก. จึงได้จัดการ “ประชุมชี้แจงกรอบการวิจัย สวก. ประจำปีงบประมาณ 2563” ขึ้นในวันอังคารที่ 23 เมษายน 2562 ณ ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รับทราบแนวทางการยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยการประชุมครั้งนี้มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ทั้งการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่ถูกต้อง รวมทั้งชี้แจงรายละเอียด และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการรับข้อเสนอโครงการ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถส่งข้อเสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวก. ได้อย่างถูกต้องและบรรลุเป้าหมายในการต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบวิจัยการเกษตรและภาคการเกษตรของประเทศ

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานในพิธีเปิดการประชุม และร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยด้วยงานวิจัย” กล่าวถึงความสำคัญของการผนึกพลังความคิดและความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ด้วยการนำผลงานวิจัยเข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเกษตรของไทย อาทิ การพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ที่ทนต่อโรค แมลง และสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การพัฒนาเกษตรแม่นยำเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาระบบการทำเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการแรงงาน จูงใจคนรุ่นใหม่กลับเข้าสู่ภาคเกษตรเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสทองที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนพื้นฐานการทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถเพิ่มโอกาสการแข่งขันสินค้าเกษตรของไทยกับประเทศคู่ค้า หรือประเทศคู่แข่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลกได้

ด้าน ดร. สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง “สวก. สุดยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์” พร้อมประกาศเจตจำนงในการร่วมทุนวิจัยระหว่าง สวก. กับภาคเอกชน เพื่อผลักดันผลงานวิจัยด้านการเกษตรของไทย ส่วนกรอบการวิจัย สวก. ประจำปีงบประมาณ 2563 นั้น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จะมุ่งไปที่กลุ่มเกษตร 7 คลัสเตอร์การเกษตร โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายและได้วางกรอบการวิจัยไว้ตามกลุ่มคลัสเตอร์ทั้ง 7 ไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, อาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและการค้า, พืชสวนพืชไร่, สมุนไพรไทย, สัตว์เศรษฐกิจ และ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังเปิดเผยถึงการปรับบทบาทของ สวก. โดยจะมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบครอบคลุม ทั้งนโยบายและการประเมินผลด้านงานวิจัยทางการเกษตรทั้งหมดของประเทศ

“เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยทางการเกษตรที่จะสอดรับกับยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจาก สวก. ที่ผ่านมานั้นสามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนเกิดภาพความร่วมมือกับภาคการศึกษา และเอกชนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปัจจุบัน สวก. จำเป็นต้องทำงานอย่างหนักมากขึ้นเพื่อรองรับกับการปรับบทบาทในการเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยด้านการเกษตรครอบคลุมทุกคลัสเตอร์ของประเทศ โดยมุ่งหวังจะเป็นผู้นำในการบริหารการวิจัยการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรอย่างยั่งยืนให้ได้” ดร. สุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการการบรรยายพิเศษ เรื่อง “กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการทำวิจัย” โดยนายแพทย์พิฑูรย์ มณีไพโรจน์ ผู้จัดการสถาบันฝึกอบรมเอ็มเค MK Brain Center โดยมุ่งหวังสร้างความตระหนักรู้ด้านงานวิจัยด้านการเกษตรที่มีคุณภาพในระดับสากล อีกทั้งยังมีการเสวนา “สกัดความคิด พิชิตทุนวิจัย มุ่งสู่การใช้ประโยชน์จริง” โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการและงานวิจัยระดับประเทศ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.มาลิน อังสุรังสี กรรมการ บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมแสดงความคิดเห็นและถอดรหัสในการสร้างสรรค์งานวิจัยที่ยอดเยี่ยมสำหรับนำไปปรับใช้ขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวก. ประจำปีงบประมาณ 2563 นี้