ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เปิดเผยผลการสำรวจ “ความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5” สำรวจระหว่างวันที่ 19 ถึง 24 มกราคม พ.ศ. 2562 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,185 คน
ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาจนถึงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ได้เกิดปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการว่าปัญหาดังกล่าวจะยังดำเนินต่อไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม
ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น ยานพาหนะปล่อยมลพิษ ปริมาณการจราจรที่หนาแน่น การก่อสร้างโครงการใหญ่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นต้น สำหรับมลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นจะส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้คนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวหากไม่มีการป้องกันที่ถูกต้อง โดยถึงแม้ผู้คนในสังคมจะตื่นตัวและตระหนักถึงอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นโดยการหาอุปกรณ์ป้องกันขณะอยู่ภายนอกอาคารในบริเวณที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น การสวมหน้ากากอนามัย
แต่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากก็ยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันอันตรายจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะเดียวกันนักวิชาการตลอดจนผู้คนทั่วไปได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงวิธีการป้องกันอันตรายอย่างเพียงพอ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.38 และเพศชายร้อยละ 49.62 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความสนใจติดตามข่าวและความรับรู้เกี่ยวกับอันตรายของฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.65 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวเกี่ยวกับปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันบ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.69 ยอมรับว่าตนเองไม่ให้ความสนใจติดตามข่าวเลย โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 19.66 ให้ความสนใจติดตามข่าวโดยตลอด ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.81 ทราบว่าปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 จะส่งผลกับสุขภาพร่างกายในระยะยาวได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.19 ยอมรับว่าไม่ทราบ
ในด้านความคิดเห็นต่อการตื่นตัวและการตระหนักถึงอันตรายของปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.24 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ตื่นตัวถึงอันตรายจากปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 แล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.63 มีความคิดเห็นว่ายังไม่ตื่นตัว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.13 ไม่แน่ใจ
อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.81 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงการป้องกันอันตรายจากปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.51 มีความคิดเห็นว่าตระหนักแล้ว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.68 ไม่แน่ใจ
ในด้านความคิดเห็นต่อการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.23 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5 ให้ประชาชน แต่กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.58 มีความคิดเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสนใจแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ในระยะยาวอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.52 เห็นด้วยหากรัฐบาลกำหนดมาตรการเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น การสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ การสั่งลดเวลาทำงานของโรงงานอุตสาหกรรมต่อวัน การสั่งหยุดการก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกอย่าง การสั่งห้ามยานพาหนะที่มีควันดำวิ่งทันที การกำหนดให้ยานพาหนะส่วนบุคคลวิ่งสลับวันกันตามเลขทะเบียนลงท้าย เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.04 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.44 ไม่แน่ใจ
แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.25 กังวลว่าจะมีผู้ออกมาคัดค้าน/หาวิธีหลีกเลี่ยงหากรัฐบาลกำหนดมาตรการเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น การสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ การสั่งลดเวลาทำงานของโรงงานอุตสาหกรรมต่อวัน การสั่งหยุดการก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกอย่าง การสั่งห้ามยานพาหนะที่มีควันดำวิ่งทันที การกำหนดให้ยานพาหนะส่วนบุคคลวิ่งสลับวันกันตามเลขทะเบียนลงท้าย เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.25 ไม่กังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.5 ไม่แน่ใจ
และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.04 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลว่าในอนาคตจะเกิดปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถี่ขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.88 ไม่กังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.08 ไม่แน่ใจ