สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “ประชาชน 64.74 ชี้เพลงแรป Thailand 4.0 ยังไม่ปัง”

0
662
image_pdfimage_printPrint

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เปิดเผยผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเผยแพร่เพลงแนวเสียดสีทางการเมืองและเพลงแนวสองแง่สองง่ามกับผลกระทบในสังคม” สำรวจระหว่างวันที่ 5 ถึง 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,211 คน

เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองในทำนองวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมหรือการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารจัดเป็นเพลงประเภทที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน บางเพลงได้รับความสนใจและถูกพูดถึงในสังคมกันเป็นวงกว้างทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ขณะที่บางเพลงไม่ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมากนัก

โดยในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารกันเป็นวงกว้าง ผู้คนส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของเนื้อหาและการเผยแพร่ ขณะที่ผู้คนอีกส่วนหนึ่งแสดงความเห็นว่าเป็นศิลปะทางด้านดนตรีที่สื่อถึงกระแสสังคมในช่วงเวลานั้นๆ รวมถึงเป็นสิทธิเสรีภาพในการแต่งและเผยแพร่

อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนมากได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงการปัญหาการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารในสังคมไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลได้เผยแพร่เพลงที่สื่อถึงผลงานของรัฐบาลออกมาจึงทำให้ผู้คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์เชิงเปรียบเทียบกับเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองก่อนหน้า จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเผยแพร่เพลงแนวเสียดสีทางการเมืองและเพลงแนวสองแง่สองง่ามกับผลกระทบในสังคม

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด อายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.37 ขณะที่ร้อยละ 49.63 เป็นเพศชาย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรู้สึกเมื่อได้ยินเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 28.49 ระบุว่าตนเองรู้สึกตลกขบขันเป็นอันดับแรกเมื่อได้ยินเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมือง รองลงมารู้สึกเฉยๆคิดเป็นร้อยละ 23.7 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.95 รู้สึกว่าไร้สาระ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.08 ร้อยละ 8.42 ร้อยละ 6.85 และร้อยละ 5.7 รู้สึกเบื่อหน่าย/รำคาญ รู้สึกสงสัยในข้อเท็จจริง รู้สึกแปลกใจ และรู้สึกโกรธ/โมโหตามลำดับ โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.81 มีความรู้สึกอื่นๆ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รู้สึกรังเกียจและรู้สึกตกใจเป็นอันดับแรกเมื่อได้ยินเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารซึ่งคิดเป็นร้อยละ 28.82 และร้อยละ 24.53 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.19 ระบุว่าตนเองรู้สึกโกรธ/โมโหเป็นอันดับแรก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.67 ร้อยละ 6.61 และร้อยละ 5.45 รู้สึกตลกขบขัน รู้สึกไร้สาระ และรู้สึกเบื่อหน่าย/รำคาญตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.39 มีความรู้สึกอื่นๆ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.34 รู้สึกเฉยๆ

ในด้านความคิดเห็นต่อการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจาร กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 81.42 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารถือเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.15 ไม่เห็นด้วยว่าเพลงลูกทุ่งที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารเป็นเสน่ห์ของความเป็นเพลงลูกทุ่งไทย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.43 เห็นด้วยว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองโดยไม่มีเนื้อหาเป็นภัยกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับความคุ้มครอง

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.44 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีพฤติกรรม/การทำงานของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ส่งผลกระทบกับความสงบเรียบร้อย/ความมั่นคงโดยรวมของประเทศได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 63.75 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีพฤติกรรม/การทำงานของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ส่งผลทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังเกิดความรู้สึกไม่ดีกับประเทศ (ชังชาติ) แต่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.17 มีความคิดเห็นว่าข่าวการจะเอาผิดทางกฎหมายกับผู้แต่ง/ผู้เผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองมีส่วนทำให้ผู้คนให้ความสนใจไปหาฟังเพลงนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.59 เห็นด้วยว่าข่าวการจะเอาผิดทางกฎหมายกับผู้แต่ง/ผู้เผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองจะส่งผลกระทบทางลบกับภาพพจน์ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.04 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารจะมีส่วนทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่แสดงพฤติกรรมทางเพศอย่างไม่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้นได้ และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีการทำงานของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐกับเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจาร กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.09 มีความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่ควรเอาผิดทางกฎหมายกับเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.53 ระบุว่าควรเอาผิดทางกฎหมายกับเพลงทั้งสองประเภท ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.9 มีความคิดเห็นว่าควรเอาผิดทางกฎหมายกับเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีการทำงานของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.48 มีความคิดเห็นว่าไม่ควรเอาผิดทางกฎหมายกับเพลงทั้งสองประเภทเลย

ในด้านความคิดเห็นต่อเพลงแรป “Thailand 4.0” กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.74 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงแรป “Thailand 4.0” ของรัฐบาลจะได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าไปติดตามชมน้อยกว่าเพลงแรป “ประเทศกูมี” ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.35 มีความคิดเห็นว่าได้รับความสนใจเท่าๆกัน และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 8.42 มีความคิดเห็นว่าจะได้รับความสนใจมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.49 ไม่แน่ใจ

และสำหรับความคิดเห็นต่อเพลง “ประเทศกูมี” และเพลง “Thailand 4.0” กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.55 เชื่อว่าเพลง “ประเทศกูมี” กับเพลง “Thailand 4.0” จะค่อยๆหายไปจากการพูดถึงในสังคมภายในระยะเวลาไม่นาน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.26 ไม่เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.19 ไม่แน่ใจ