สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “3 สาเหตุนำไปสู่พฤติกรรมกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน”

0
399
image_pdfimage_printPrint

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษา” สำรวจระหว่างวันที่ 26 ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,089 คน

ปัญหาการกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ขู่เข็ญ ระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังซึ่งมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นรวมถึงมีความรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ ในหลายกรณีได้มีการนำภาพขนาดเกิดการกลั่นแกล้งมาเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนเป็นวงกว้างทำให้เกิดผลกระทบกับทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมถึงสร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้กับผู้พบเห็น โดยผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่านักเรียนที่มีพฤติกรรมชอบกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ขู่เข็ญนักเรียนคนอื่นนั้นเกิดจากความคึกคะนองตามวัยหรือเกิดจากการทำตามๆ กัน ซึ่งควรนำนักเรียนกลุ่มนี้มาเข้าสู่กระบวนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะที่ผู้คนส่วนมากมีความคิดเห็นว่าผู้บริหารสถานศึกษาและครูอาจารย์ไม่สนใจและปล่อยปละละเลยรวมถึงไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว

ขณะเดียวกันผู้บริหารและครูอาจารย์ยังอาจไม่เข้าใจวิธีการดูแลนักเรียนพิเศษหรือนักเรียนพิการซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มถูกกลั่นแกล้งอย่างถูกต้องเหมาะสม และเวลาเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นก็มักจะแก้ปัญหาโดยให้ความสำคัญกับชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของสถานศึกษาเป็นหลัก จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษา

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศชายร้อยละ 48.03 และเพศหญิงร้อยละ 51.97 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษาตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ความคึกคะนองตามวัยของตัวนักเรียนคิดเป็นร้อยละ 84.11 พฤติกรรมเลียนแบบ/ทำตามเพื่อน/เพื่อนชักชวนคิดเป็นร้อยละ 82.19 ขาดการดูแลเอาใจใส่จากครูอาจารย์คิดเป็นร้อยละ 79.98 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.41 ระบุว่าผู้บริหารโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญกับปัญหา

ในด้านความกังวลต่อปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญที่จะเกิดกับบุตรหลานนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.21 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลว่าบุตรหลานของตนจะถูกนักเรียนในสถานศึกษาเดียวกันกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.52 ระบุว่าไม่กังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.27 ไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทช่วยลดปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษาลงได้มากที่สุด 3 กลุ่ม คือ พ่อแม่ผู้ปกครองคิดเป็นร้อยละ 90.08 ครูอาจารย์/ผู้บริหารโรงเรียนคิดเป็นร้อยละ 88.15 และนักเรียนรุ่นพี่ในโรงเรียนคิดเป็นร้อยละ 84.76 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.55 ระบุว่าเพื่อนนักเรียน

ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ขู่เข็ญในสถานศึกษานั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.76 มีความคิดเห็นว่าการที่ผู้บริหารสถานศึกษาแก้ปัญหาเมื่อเกิดกรณีนักเรียนกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญโดยให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์/ชื่อเสียงของสถานศึกษามีส่วนทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษามีมากขึ้น

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.32 มีความคิดเห็นว่าการที่ผู้บริหารสถานศึกษาใช้วิธีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมเมื่อเกิดกรณีนักเรียนกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญมีส่วนทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษามีมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.52 มีความคิดเห็นว่าการที่ผู้บริหารสถานศึกษาไม่เข้าใจวิธีการดูแลนักเรียนพิเศษ/พิการที่ถูกต้องมีส่วนทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญระหว่างนักเรียนภายในสถานศึกษามีมากขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบวิธีการแก้ปัญหานักเรียนที่มีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญในสถานศึกษาระหว่างการเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกับการเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.29 มีความคิดเห็นว่าควรใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.43 มีความคิดเห็นว่าการให้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีความเหมาะสมกว่า โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.28 มีความคิดเห็นว่าการให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมายมีความเหมาะสมกว่า

ในด้านการกำหนดบทลงโทษและความจำเป็นในการแก้ปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ขู่เข็ญภายในสถานศึกษานั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.92 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดบทลงโทษทางวินัย/อาญากับผู้บริหารสถานศึกษาที่ปล่อยปละละเลยให้สถานศึกษาของตนเกิดปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.45 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดบทลงโทษกับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานของตนเองมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญนักเรียนคนอื่นอย่างต่อเนื่องภายในสถานศึกษา และกลุ่มตัวอย่างประมาณสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 80.35 มีความคิดเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง-ล้อเลียน-ขู่เข็ญภายในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาดเข้มงวดมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน