สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “5 สาเหตุนำไปสู่การเป็นคุณแม่วัยใส”

0
329
image_pdfimage_printPrint

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อประเด็นคุณแม่วัยใสกับปัญหาในสังคมไทย” สำรวจระหว่างวันที่ 5 ถึง 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,196 คน

ปัญหาคุณแม่วัยใสหรือหญิงที่ตั้งครรภ์และมีบุตรในช่วงวัยเรียนถือเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทย และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการขาดเรียนของกลุ่มคุณแม่วัยใส คุณภาพในการดูแลเลี้ยงดูเด็กที่คลอดออกมา รวมถึงปัญหาทางด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเพศภาวะและสุขภาพสตรีมหาวิทยาลัยขอนแก่นระบุว่า คุณแม่วัยใสส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุ 15 ปีมากที่สุด และตั้งครรภ์ที่อายุน้อยที่สุด คือ 12 ปี โดยส่วนใหญ่ คือ 62.9% มีแฟนอายุมากกว่าตนเอง อายุเฉลี่ยของผู้ชายที่ 20-30 ปี โดยคุณแม่วัยใสส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมากที่สุด 12.5% มัธยมศึกษาตอนปลาย 7.7% ประถมศึกษา 3.1%

ผลการวิจัยยังบ่งชี้ว่าคุณแม่วัยใสส่วนใหญ่ไม่คุมกำเนิดในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกและเกือบสองในสามไม่ตั้งใจตั้งครรภ์ซึ่งสะท้อนปัญหาการป้องกันที่ไม่ดีพอ ขณะเดียวกันในระยะหลังได้ปรากฏข่าวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการมีพฤติกรรมรุนแรงและการกระทำผิดกฎหมายของกลุ่มวัยรุ่นซึ่งมีคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงที่ยังเป็นคุณแม่วัยใส จึงทำให้ผู้คนในสังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาคุณแม่วัยใสและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมากขึ้น และได้เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการแก้ไขป้องกันปัญหาดังกล่าว ทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ของพ่อแม่ผู้ปกครองให้มากขึ้น ตลอดจนการสอดส่องดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์และการเข้าถึงสื่อออนไลน์ต่างๆของกลุ่มวัยรุ่น ดังนั้น ในโอกาสจะใกล้ถึงวันแม่ประจำปี พ.ศ. 2561 สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อประเด็นคุณแม่วัยใสกับปัญหาในสังคมไทย

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.92 เพศชายร้อยละ 49.08 อายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสาเหตุสำคัญ 5 อันดับสูงสุดที่นำไปสู่การเป็นคุณแม่วัยใสตามความคิดเห็นของลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ความคึกคะนอง/อยากลองคิดเป็นร้อยละ 86.79 มีเจตนา/ตั้งใจไม่ป้องกันคิดเป็นร้อยละ 84.87 การเข้าถึงสื่อลามกอนาจารได้ง่ายคิดเป็นร้อยละ 82.69 ถูกเพื่อนฝูงชักจูง/ทำตามเพื่อนคิดเป็นร้อยละ 80.77 และสภาพความเป็นอยู่ภายในชุมชนที่พักอาศัยมีความเสี่ยงคิดเป็นร้อยละ 78.34

ด้านความคิดเห็นต่อระบบการติดต่อพูดคุยสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์กับปัญหาคุณแม่วัยใส กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.24 มีความคิดเห็นว่าระบบการติดต่อพูดคุยสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มีส่วนเพิ่มจำนวนคุณแม่วัยใสในสังคมไทยให้มากขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.15 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.61 ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นต่อเด็กที่เกิดจากกลุ่มคุณแม่วัยใส กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.18 เห็นด้วยว่าเด็กที่เกิดจากคุณแม่วัยใสเมื่อโตขึ้นจะมีแนวโน้มก่อปัญหาในสังคม เช่น ติดยาเสพติด มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อความรุนแรง เป็นต้น ได้มากกว่ากลุ่มเด็กที่เกิดจากคุณแม่ที่มีอายุสูงกว่ากลุ่มคุณแม่วัยใส ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.79 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.03 ไม่แน่ใจ

ด้านแนวทางการลดปัญหาคุณแม่วัยใสในสังคมไทยนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.66 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามออกนอกเคหะสถานตอนกลางคืนจะไม่มีส่วนช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาคุณแม่วัยใสในสังคมไทยได้จริง

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.08 มีความคิดเห็นว่าการตำหนิ/ต่อว่า/ดูถูก/ไม่ให้โอกาสในสังคมกับกลุ่มคุณแม่วัยใสจะไม่มีส่วนช่วยกดดันให้กลุ่มคุณแม่วัยใสในสังคมไทยลดจำนวนลงไปในอนาคตได้จริง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.73 มีความคิดเห็นว่าหากกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษารวมถึงวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรลงไปในบทเรียนให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันจะมีส่วนช่วยลดปัญหาคุณแม่วัยใสในสังคมไทยลงได้ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.28 มีความคิดเห็นว่าการนำเสนอละคร/ภาพยนตร์/สารคดีสะท้อนปัญหาการเป็นคุณแม่วัยใสผ่านสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องจะมีส่วนช่วยลดปัญหาคุณแม่วัยใสในสังคมไทยลงได้

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการบังคับใช้มาตรการเพื่อช่วยลดปัญหาคุณแม่วัยใสในสังคมไทระหว่างมาตรการทางกฎหมาย/จารีตประเพณีเพื่อควบคุมการติดต่อพบปะพูดคุยของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงกับมาตรการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์และการป้องกัน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.17 มีความคิดเห็นว่าควรบังคับใช้ทั้งสองมาตรการควบคู่กันจะช่วยลดปัญหาคุณแม่วัยใสในสังคมไทยได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.3 มีความคิดเห็นว่าควรใช้มาตรการให้ความรู้ความเข้าใจมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 19.73 มีความคิดเห็นว่าควรบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย/จารีตประเพณีมากกว่า

กลุ่มบุคคลที่มีส่วนช่วยลดปัญหาคุณแม่วัยใสในสังคมไทยลงได้มากที่สุด 5 กลุ่มตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง/ญาติพี่น้องคิดเป็นร้อยละ 85.87 เพื่อนฝูงคิดเป็นร้อยละ 83.61 ครูอาจารย์คิดเป็นร้อยละ 81.52 ผู้คนภายในชุมชนที่พักอาศัยคิดเป็นร้อยละ 78.93 และกลุ่มคุณแม่วัยใสคิดเป็นร้อยละ 75.17 (อ่านข่าวต่อ https://bit.ly/2P12I7c)