สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “79.37% เชื่อทุจริตเงินทอนวัดไม่ส่งผลให้ศรัทธาในศาสนาลดลง”

0
454
image_pdfimage_printPrint

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของพุทธศาสนิกชนไทยต่อข่าวทุจริตเงินทอนวัดกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา” สำรวจระหว่างวันที่ 21 ถึง 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,139 คน

วัดถือเป็นสถานที่สำคัญสถานที่หนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยและมีความใกล้ชิดผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมานับแต่อดีต เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนจึงมีการสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนมากให้พระสงฆ์ได้จำพรรษาเพื่อเผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา รวมถึงเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และใช้เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้

นอกจากนี้ วัดยังถือเป็นสถานที่ที่ผู้คนในชุมชนใช้พบปะสังสรรค์ทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนจึงนิยมเดินทางไปทำบุญบริจาคปัจจัยให้วัดเพื่อนำไปใช้สร้างถาวรวัตถุ รวมทั้งดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในวัดอันเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยังคงเจริญสืบทอดต่อไป ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการก็มีการดำเนินการจัดงบประมาณสนับสนุนให้กับวัดต่างๆ เพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ของวัดด้วยอีกทางหนึ่ง

แต่จากกระแสข่าวการทุจริตงบประมาณของหน่วยงานราชการที่จัดให้วัดต่างๆ หรือที่เรียกว่า “ทุจริตเงินทอนวัด” ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเกี่ยวข้อง โดยการทุจริตมีทั้งในส่วนการเบิกงบประมาณให้วัดแต่หักงบประมาณจำนวนหนึ่งไว้ หรือการเบิกงบประมาณไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแต่ไม่ได้มีการดำเนินการจริง

ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่บางรูปที่มีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าวด้วย จึงทำให้พุทธศาสนิกชนต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นกันเป็นวงกว้าง โดยบางส่วนกังวลว่าข่าวดังกล่าวอาจจะส่งผลให้สังคมเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา ขณะที่บางส่วนได้เรียกร้องให้ออกกฎข้อบังคับเพื่อป้องกันแก้ไขการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพุทธศาสนิกชนไทยต่อข่าวทุจริตเงินทอนวัดกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.92 และเพศชายร้อยละ 49.08 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความสนใจเกี่ยวกับข่าวทุจริตเงินทอนวัด กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.52 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวทุจริตเงินทอนวัดบ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.71 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามโดยตลอด และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.77 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้ให้ความสนใจติดตามเลย

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการทุจริตเงินทอนวัด กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.06 เชื่อว่ามีพระสงฆ์เข้าไปมีส่วนรู้เห็น/พัวพันเกี่ยวข้องในคดีทุจริตเงินทอนวัด แต่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.17 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกกังวลว่าการแจ้งข้อกล่าวหาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีส่วนพัวพันในคดีทุจริตเงินทอนวัดจะนำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายในบ้านเมือง นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.09 ไม่เห็นด้วยว่าการแจ้งข้อกล่าวหาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีส่วนพัวพันในคดีทุจริตเงินทอนวัดจะเป็นการทำลายพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.37 มีความคิดเห็นว่าข่าวทุจริตเงินทอนวัดจะไม่มีส่วนทำให้ความศรัทธาในหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาของตนเองลดลงไป ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.31 มีความคิดเห็นว่าข่าวทุจริตเงินทอนวัดจะไม่มีส่วนทำให้พุทธศาสนิกชนลดความเชื่อถือศรัทธาต่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาโดยรวม นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.78 มีความคิดเห็นว่าข่าวทุจริตเงินทอนวัดจะไม่มีส่วนทำให้ความใกล้ชิดระหว่างพุทธศาสนิกชนกับวัดลดลงไปได้

ในด้านความคิดเห็นต่อแนวทางแก้ปัญหาการทุจริตเงินทอนวัดในอนาคต กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.95 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดให้ทุกวัดต้องแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายให้สาธารณะได้รับทราบจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการทุจริตเงินทอนวัดในอนาคตได้ และกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.46 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดให้เจ้าอาวาสทุกวัดต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินส่วนตัวให้สาธารณะได้รับทราบจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการพัวพันทุจริตเงินทอนวัดของพระสงค์ในอนาคตได้ (อ่านข่าวต่อ https://goo.gl/CS16gc)