สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “5 ข้อดี-ข้อเสียของการมีรัฐบาลแห่งชาติ”

0
440
image_pdfimage_printPrint

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” สำรวจระหว่างวันที่ 13 ถึง 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,195 คน

ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 จะครบรอบสี่ปีของการเข้ามาควบคุมอำนาจการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหลังจากที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศว่าประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 พรรคการเมืองต่างๆได้เริ่มเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งท่ามกลางกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มนายทหารและกระแสการ “ดูด” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ขณะเดียวกันผู้คนในสังคมได้แสดงความกังวลว่าหลังการเลือกตั้งอาจเกิดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองได้อีก จึงมีผู้เสนอแนวคิดในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสงบสุขให้กับประเทศ รวมถึงเป็นช่องทางให้นักการเมืองทุกฝ่ายได้หันมาร่วมมือกันทำงานเพื่อประเทศชาติ

แต่อย่างไรก็ตามผู้คนอีกส่วนหนึ่งได้แสดงความห่วงใยและวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่าอาจจะไม่เหมาะกับสภาพการเมืองไทยและจะทำให้ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งจะนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นเป็นวงกว้างได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิงร้อยละ 50.29 และเพศชายร้อยละ 49.71 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับข้อดีของการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ช่วยให้เกิดความร่วมมือกันในการทำงานคิดเป็นร้อยละ 84.27 ช่วยลดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองคิดเป็นร้อยละ 82.09 มีการดำเนินนโยบายต่างๆอย่างชัดเจนคิดเป็นร้อยละ 79.75 สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรีคิดเป็นร้อยละ 76.57 และกระบวนการออกกฎหมายต่างๆทำได้รวดเร็วคิดเป็นร้อยละ 73.97

ส่วนข้อเสียในการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด 5 อันดับคือ ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้เป็นวงกว้างคิดเป็นร้อยละ 86.95 ทำให้ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลในรัฐสภาคิดเป็นร้อยละ 85.02 ขาดการตรวจสอบการดำเนินงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพคิดเป็นร้อยละ 82.85 เกิดการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องคิดเป็นร้อยละ 80.5 และไม่มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ อย่างจริงจังคิดเป็นร้อยละ 77.66

ในด้านความคิดเห็นต่อการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งมีความคิดเห็นว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่มีความเหมาะสมกับสภาพการเมืองไทยในปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 47.62 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.29 มีความคิดเห็นว่ามีความเหมาะสม ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.09 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.4 ไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมี “รัฐบาลแห่งชาติ” ได้จริงหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.45 เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.15 ไม่แน่ใจ

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.95 ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.96 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.09 ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้จริงเพื่อสร้างความปรองดองและลดความขัดแย้งภายในประเทศ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.13 ระบุว่าตนเองยอมรับได้ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.64 ระบุว่ายอมรับไม่ได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.23 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อที่มาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีหากมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นจริง กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.89 มีความคิดเห็นว่าหากมีการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ขึ้นจริง นายกรัฐมนตรีควรมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.14 มีความคิดเห็นว่าควรมาจากบุคคลภายนอกเท่านั้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.97 ระบุว่ามาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือบุคคลภายนอกก็ได้

สำหรับที่มาของคณะรัฐมนตรีหากมีการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ขึ้นจริง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 40.59 มีความคิดเห็นว่าคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลแห่งชาติควรคัดเลือกมาจากบุคคลภายนอกมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รองลงมามีความคิดเห็นว่าควรคัดเลือกมาจากทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและบุคคลภายนอกเท่าๆ กันคิดเป็นร้อยละ 28.28 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.67 มีความคิดเห็นว่าควรคัดเลือกมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าบุคคลภายนอก ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.77 ระบุว่าควรมาจากบุคคลภายนอกทั้งหมด และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4.69 ระบุว่าควรมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด (อ่านข่าวต่อ https://goo.gl/HUfcgD)