ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” สำรวจระหว่างวันที่ 1 ถึง 5 มีนาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,201 คน
หลังจากที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาประกาศล่าสุดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการเลื่อนกำหนดจากเดิมที่คาดว่าจะจัดขึ้นภายในปลายปี พ.ศ. 2561 นี้ อันเนื่องมาจากการเลื่อนกำหนดบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไปอีก 90 วัน ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยผู้คนบางส่วนยังคงตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันได้มีการพยายามออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เพื่อรณรงค์ให้สังคมออกมาร่วมแสดงจุดยืนให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในปี พ.ศ. 2561 นี้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิงร้อยละ 50.37 เพศชายร้อยละ 49.63 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.27 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้ให้ความสนใจติดตามข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเพื่อกดดันให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในปี พ.ศ. 2561 นี้ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 23.73 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตา
ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.19 มีความคิดเห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.28 ไม่เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไม่มีนักการเมืองให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ส่วนในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.44 ไม่รู้สึกกังวลว่าการประกาศเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากปี พ.ศ. 2561 ออกไปจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.61 มีความคิดเห็นว่าหากมีการประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ชัดเจนจะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติได้
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.11 มีความคิดเห็นว่าหากมีการประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ชัดเจนจะมีส่วนช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของรัฐบาลให้สูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 29.73 เชื่อว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.13 ระบุว่าไม่เชื่อ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 26.14 ยังไม่แน่ใจ
และในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงสมัครรับเลือกตั้งและการจัดตั้งพรรคการเมือง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.53 เชื่อว่าอดีตแกนนำกลุ่มชุมนุมทางการเมืองที่เคยประกาศตัวว่าจะเลิกเล่นการเมืองจะกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง และกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.86 มีความคิดเห็นว่าการประกาศเลื่อนบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไปอีก 90 วันนั้นมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่