สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “70.27% กลัวผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อถูกหลอกในโลกยุคดิจิทัล”

0
275
image_pdfimage_printPrint

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของกลุ่มผู้สูงอายุเกี่ยวกับโลกยุคดิจิทัล (Digital) กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน” สำรวจระหว่างวันที่ 25 ถึง 29 มกราคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด

ปัจจุบันเทคโนโลยีระบบดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นอย่างมาก จากเดิมที่ผู้คนสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงโทร.ติดต่อระหว่างกันเท่านั้น หรือใช้คอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์เอกสารและประมวลผลในเรื่องต่างๆ เท่านั้น แต่เมื่อมีการพัฒนาระบบดิจิทัลควบคู่กับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ผู้คนสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่รับส่งข้อความทั้งตัวอักษรและภาพได้ รวมถึงสามารถใช้คอมพิวเตอร์รับส่งข้อมูลผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และเข้าดูข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้นประกอบกับมีการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมมากขึ้น ผู้คนสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ติดต่อสื่อสารผ่านระบบออนไลน์กับผู้คนเป็นจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ด้วยการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ผู้คนยังสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวติดตามข่าวสารข้อมูลต่างๆ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือแม้แต่ซื้อสินค้า และทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวก

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของผู้คนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเด็ก วัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน ตลอดจนกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ด้วยการเข้าถึงอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่รองรับระบบดิจิทัลได้ง่าย เช่น โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ประกอบกับอุปกรณ์เหล่านั้นมีวิธีการใช้ที่ไม่ซับซ้อน จึงทำให้ในปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านอุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย ซึ่งส่งผลให้ในปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุที่ใช้งานโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนหรือเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมากขึ้น จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นของกลุ่มผู้สูงอายุเกี่ยวกับโลกยุคดิจิทัล (Digital) กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 55 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.67 และเพศชายร้อยละ 49.33 ร้อยละ 60.33 ว่างงาน-เกษียณอายุแล้ว สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากระบบ 2 G นั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.11 ไม่ทราบว่าในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยีระบบ 2G มาเป็นระบบ 3G-4G-5G แล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.89 ระบุว่าทราบ

ส่วนความเข้าใจเกี่ยวกับโลกยุคดิจิทัลนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 34.42 ระบุว่า “โลกยุคดิจิทัล” ตามความเข้าใจของตนเองคือการใช้อุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากการติดต่อสื่อสารหรือรับส่งข้อความ เช่น ทำงาน เรียนหนังสือ ดูหนังฟังเพลง อ่านหนังสือ ซื้อขายสินค้า ทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น รองลงมาระบุว่าคือการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันซึ่งคิดเป็นร้อยละ 21.89

โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.06 ระบุว่า “โลกยุคดิจิทัล” คือ การใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.89 และร้อยละ 7.84 ระบุว่าคือการเรียนหนังสือ การทำงาน การพูดคุย ผ่านระบบคอมพิวเตอร์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการติดต่อสื่อสาร พูดคุย รับส่งข้อความ ภาพ เสียงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.9 ระบุว่าตนเองไม่เข้าใจเลยว่า “โลกยุคดิจิทัล” คืออะไร

สำหรับกิจกรรมที่ผู้คนสามารถทำผ่านอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การเดินทางตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด 5 กิจกรรม ได้แก่ การติดต่อสื่อสารพูดคุยกับผู้อื่นคิดเป็นร้อยละ 86.04 ดูหนัง/ฟังเพลง/อ่านหนังสือคิดเป็นร้อยละ 83.65 เรียนหนังสือ/ทำงานคิดเป็นร้อยละ 77.72 ค้นหาข้อมูลความรู้ต่างๆคิดเป็นร้อยละ 71.61 และทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบธนาคารคิดเป็นร้อยละ 69.5 โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.69 ร้อยละ 65.58 และร้อยละ 63.29 ระบุว่าการจองตั๋วโดยสาร/ที่พัก การจองบัตรการแสดง/คอนเสิร์ต และการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับโลกยุคดิจิทัล กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.7 และร้อยละ 55.93 เห็นด้วยว่าโลกยุคดิจิทัลทำให้ผู้สูงอายุติดการใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทโฟน/แท็ปเล็ตมากขึ้นและทำให้เกิดสังคมก้มหน้าในกลุ่มผู้สูงอายุเช่นเดียวกับกลุ่มประชากรในวัยอื่นตามลำดับ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.95 มีความคิดเห็นว่าโลกยุคดิจิทัลส่งผลให้ผู้สูงอายุดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงกว่าในอดีต

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.47 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกยุคดิจิทัลมีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 46.27 ระบุว่าตนเองมีความพร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลแล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.15 ยอมรับว่ายังไม่มีความพร้อม ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.58 ยังไม่แน่ใจ

สำหรับวิธีการเตรียมตัวเพื่อให้ตนเองสามารถดำเนินชีวิตในโลกยุคดิจิทัลของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด 5 อันดับคือ ซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตคิดเป็นร้อยละ 73.61 เรียนรู้วิธีการดูหนังฟังเพลงผ่านระบบออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 71.03 เรียนรู้การใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 69.02 เรียนรู้การเข้าถึงระบบบริการต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 66.83 และทำความคุ้นเคยกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 62.91 โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.94 ระบุว่าเรียนรู้ภาษา/ความหมายของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.83 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้เตรียมพร้อมอะไรเลย

ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.43 มีความคิดเห็นว่าการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลในปัจจุบันส่งผลให้ตนเองดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากในอดีต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.48 มีความคิดเห็นว่าโลกยุคดิจิทัลมีส่วนช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้สูงอายุได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.11 มีความคิดเห็นว่าการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลจะไม่ส่งผลให้ผู้สูงอายุลดการเดินทางไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น พบปะเพื่อนฝูง ซื้อหาของใช้ ไปธนาคาร เป็นต้น ลงไปกว่าในอดีต นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.41 มีความคิดเห็นว่าการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความใกล้ชิดกับลูกหลาน/สมาชิกในครอบครัวน้อยลงกว่าในอดีต และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.27 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลว่าผู้สูงอายุจะตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงในเรื่องต่างๆมากขึ้นในโลกยุคดิจิทัล