สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “ประชาชน 60 กว่าเปอร์เซ็นต์เชื่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินส่วนตัวไม่ช่วยลดปัญหาคอรัปชั่น”

0
304
image_pdfimage_printPrint

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” สำรวจระหว่างวันที่ 8 ถึง 12 มกราคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,195 คน

กระบวนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวถือเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่สำคัญซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย ทั้งนี้ การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวนอกจากจะเป็นการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังถือเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและสร้างความน่าเชื่อถือของตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเองให้กับประชาชนทั่วไปด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีข้อกำหนดและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ยังมีข่าวปรากฏอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวอันเป็นเท็จหรือการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินไม่ครบถ้วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถึงแม้ในบางกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ในบางกรณีก็ยังคงมีความคุมเครือไม่ชัดเจนถึงกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมเป็นวงกว้างถึงความโปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบ รวมถึงมีผู้คนจำนวนมากได้ตั้งข้อสังเกตถึงบทลงโทษกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวอันเป็นเท็จว่าอาจเบาไป จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.38 เพศชายร้อยละ 49.62 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัว กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 81.09 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.89 มีความคิดเห็นว่าถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.02 ไม่แน่ใจ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.22 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวจะมีส่วนช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเองได้

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.23 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้มีการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.25 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวจะไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้จริง

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกำหนดการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.73 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดำรงตำแหน่งเกินกว่า 1 ปีต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวทุกปีจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่ง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.83 มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินที่ได้รับโดยเสน่หาหรือขอยืมมาจากบุคคลอื่นด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.57 เชื่อว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนตัวไปให้ผู้อื่นถือครองเพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินส่วนตัว และกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.19 กังวลว่าฝ่ายการเมืองจะแทรกแซงกดดันการตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินส่วนตัวอันเป็นเท็จของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สำหรับการกำหนดระยะเวลาห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติกรรมจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือจงใจยื่นแสดงรายการไม่ครบ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 37.74 มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดโทษห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติกรรมจงใจแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินส่วนตัวเป็นเท็จหรือไม่แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินส่วนตัวครบทุกรายการสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มากกว่า 10 ปีขึ้นไป รองลงมามีความคิดเห็นว่าควรกำหนดโทษห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประมาณ 6 ถึง 10 ปีซึ่งคิดเป็นร้อยละ 32.3 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.46 มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดโทษ 5 ปี และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 5.36 ระบุว่าควรกำหนดโทษน้อยกว่า 5 ปี โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.14 มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดโทษห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต