สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “5 สิ่งที่สังคมได้อะไรจากการวิ่งก้าวคนละก้าว”

0
244
image_pdfimage_printPrint

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อรับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐของดารานักร้องนักแสดง” ซึ่งได้สำรวจระหว่างวันที่ 15 ถึง 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,207 คน

ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์มีไม่เพียงพอกับการรองรับการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลซึ่งมีจำนวนมากถือเป็นปัญหาด้านสาธารณะสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่งซึ่งส่งผลกับประสิทธิภาพในการให้บริการด้านสาธารณะสุขกับประชาชนในประเทศ ดังนั้น นอกจากการอาศัยงบประมาณจากภาครัฐในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลรัฐแล้ว ภาคส่วนต่างๆ ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อช่วยจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐอยู่เป็นระยะ

ทั้งนี้ กิจกรรมหนึ่งที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบันคือการจัดกิจกรรมก้าวคนละก้าว วิ่งเบตง-แม่สาย ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เพื่อรับบริจาคเงิน 700 ล้านบาทสมทบทุนช่วยซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลรัฐ 11 แห่งของนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม นักร้องชื่อดัง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวางจนในปัจจุบันยอดเงินบริจาคได้เกินกว่า 700 ล้านบาทไปแล้ว

โดยกิจกรรมดังกล่าวได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนให้ความสนใจบริจาคเงินช่วยโรงพยาบาลรัฐต่างๆ การตระหนักถึงการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง รวมถึงการให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงสาธารณะสุข นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังได้แสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารี และความสามัคคีของคนไทยด้วยกันอีกด้วย จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อรับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐของดารานักร้องนักแสดง

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 15 ปีขึ้นไป เพศหญิงร้อยละ 50.7 และเพศชายร้อยละ 49.3 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.67 ระบุว่าตนเองได้บริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐโดยตรงเพื่อสร้างอาคาร/ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ครั้งล่าสุดภายในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา รองลงมาระบุว่าตนเองบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐครั้งล่าสุดภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.14 ระบุว่าตนเองบริจาคเงินให้โรงพยาบาลครั้งสุดเกินกว่าหนึ่งปีมาแล้ว อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.93 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐเลย

ในด้านการติดตามข่าวการทำกิจกรรมวิ่ง “เบตง-แม่สาย” รับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลของตูน บอดี้สแลมนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.33 ระบุว่าตนเองติดตามข่าวการทำกิจกรรมวิ่ง “เบตง-แม่สาย” รับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐของตูน บอดี้สแลมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาเป็นบางวัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.45 ระบุว่าตนเองติดตามข่าวทุกวัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.22 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้ติดตามข่าวเลย ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.29 เห็นด้วยกับการทำกิจกรรมวิ่ง “เบตง-แม่สาย” รับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐของตูน บอดี้สแลม

สำหรับความรู้สึกเมื่อได้ทราบข่าวการทำกิจกรรมวิ่ง “เบตง-แม่สาย” ของตูน บอดี้สแลมเพื่อรับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.91 ระบุว่าตนเองรู้สึกชื่นชมยกย่องเป็นอันดับแรกเมื่อได้ทราบข่าวการทำกิจกรรมวิ่ง “เบตง-แม่สาย” รับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐของตูน บอดี้สแลม รองลงมาระบุว่ารู้สึกเอาใจช่วยคิดเป็นร้อยละ 21.29 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.42 และร้อยละ 10.11 รู้สึกนับถือและรู้สึกเป็นห่วงสุขภาพตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.22 รู้สึกสงสาร อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.44 รู้สึกไร้สาระและเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.54 รู้สึกเฉยๆ

ส่วนสิ่งที่สังคมจะได้จากการทำกิจกรรมวิ่ง “เบตง-แม่สาย” รับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐของตูน บอดี้สแลมมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ได้ตระหนักถึงการทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคมคิดเป็นร้อยละ 84.18 ได้กระตุ้นให้เกิดค่านิยมการรู้จักเป็นผู้ให้คิดเป็นร้อยละ 82.27 ได้เห็นความมีน้ำใจระหว่างคนไทยด้วยกันคิดเป็นร้อยละ 79.7 ได้ตื่นตัวในการดูแลเอาใจใส่สุขภาพตนเองมากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 76.8 และได้สร้างความสุข/รอยยิ้มในสังคมคิดเป็นร้อยละ 74.98

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำกิจกรรมวิ่ง “เบตง-แม่สาย” รับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐของตูน บอดี้สแลม กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.61 มีความคิดเห็นว่าการทำกิจกรรมวิ่ง “เบตง-แม่สาย” รับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐของตูน บอดี้สแลมจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้คนหันไปบริจาคเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.96 ร้อยละ 47.8 และร้อยละ 46.98 มีความคิดเห็นว่าการทำกิจกรรมวิ่ง “เบตง-แม่สาย” รับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐของตูน บอดี้สแลมจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการบริหารจัดการงบประมาณด้านสาธารณะสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ จะมีส่วนกระตุ้นให้ภาครัฐหันมาแก้ปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะสุขอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้นได้ และจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ภาครัฐดำเนินการยกระดับคุณภาพการให้บริการสาธารณะสุขในประเทศให้ดีขึ้นได้ ตามลำดับ