สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย 5 เหตุผลธำรงวินัยรุนแรง

0
318
image_pdfimage_printPrint

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นและทัศนคติของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับคำว่า “การธำรงวินัย” สำรวจระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,190 คน

การธำรงวินัย หมายถึง การดำรงตนหรือการฝึกตนให้อยู่ในระเบียบวินัยและปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัด ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่เข้าศึกษาและรับการฝึกเพื่อเตรียมตัวไปเป็นทหารหรือรั้วของชาติซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อม ความอดทน และความแข็งแกร่งทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น “การธำรงวินัย” จึงถือเป็นแบบแผนสำคัญส่วนหนึ่งในการฝึกความมีระเบียบวินัย

แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีข่าวปรากฏอยู่เป็นระยะๆ เกี่ยวกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัดหรือถึงแก่ความตายโดยคาดว่าอาจเกิดจากการธำรงวินัยด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ ทุกครั้งที่มีข่าวทำนองนี้ปรากฏขึ้นจะกลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้คนในสังคมซึ่งต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางรวมถึงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการธำรงวินัยด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุ ขณะเดียวกันผู้คนอีกส่วนหนึ่งได้แสดงความห่วงใยถึงปัญหาการออกคำสั่งธำรงวินัยด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุและได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นและทัศนคติของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับคำว่า “การธำรงวินัย”

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.59 และเพศชายร้อยละ 49.41 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “การธำรงวินัย” กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.92 ระบุว่าตามความเข้าใจของตนเอง คำว่า “การธำรงวินัย” หมายถึง “การฝึกฝนให้มีระเบียบวินัยโดยการปฏิบัติตามการออกคำสั่งของหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา” รองลงมาให้ความหมายว่า “การฝึกให้มีความอดทนอดกลั้นโดยการทำกิจกรรมต่างๆเพิ่มเติมจากสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัติประจำวัน” คิดเป็นร้อยละ 24.96 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.81 ระบุว่าตามความเข้าใจของตน คำว่า “การธำรงวินัย” หมายถึง “การฝึกความสามัคคีและความพร้อมเพียงโดยการทำกิจกรรมตามคำสั่งของหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชาพร้อมๆกันเป็นกลุ่ม” กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.86 ระบุความหมายตามความเข้าใจของตนว่า “การฝึกความแข็งแกร่งทั้งด้านร่างกายและจิตใจ” อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างที่เหลือมีความเข้าใจว่า “การธำรงวินัย” คือ “การลงโทษด้วยวิธีการรุนแรง/ผิดธรรมชาติเมื่อกระทำความผิด” และ “การใช้กำลังทำร้ายร่างกายข่มขู่คุกคามให้กลัว” ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 7.14 และร้อยละ 5.63 ตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 1.68 ระบุความหมายอื่นๆ

ในด้านความคิดเห็นต่อการธำรงวินัยนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.35 เห็นด้วยว่าการธำรงวินัยด้วยวิธีการที่เหมาะสมถูกต้องจะช่วยเพิ่มความมีระเบียบวินัยของนักเรียนทหารได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.84 เห็นด้วยว่าการธำรงวินัยด้วยวิธีการที่เหมาะสมถูกต้องจะช่วยให้นักเรียนทหารโตไปเป็นทหารอาชีพที่มีศักยภาพทางด้านร่างกายและจิตใจได้ในอนาคต นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.82 เห็นด้วยว่าการธำรงวินัยด้วยวิธีการที่เหมาะสมถูกต้องจะช่วยปรามมิให้นักเรียนทหารกระทำความผิดซ้ำได้อีก อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.05 เชื่อว่าในปัจจุบันยังคงมีการธำรงวินัยกับนักเรียนทหารโดยนักเรียนรุ่นพี่ด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุเป็นปกติ

สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่นำไปสู่การธำรงวินัยนักเรียนรุ่นน้องด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุของนักเรียนรุ่นพี่ได้แก่ ความกดดันที่เคยถูกกระทำแบบเดียวกันจากรุ่นพี่ก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 84.45 ความคึกคะนองตามวัยคิดเป็นร้อยละ 82.27 ไม่มีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำคิดเป็นร้อยละ 79.5 ไม่มีผู้บังคับบัญชา/หัวหน้าควบคุมขณะกระทำการคิดเป็นร้อยละ 76.81 และขาดความรู้ความเข้าใจในวิธีการคิดเป็นร้อยละ 74.79

ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาการธำรงวินัยด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.59 เห็นด้วยว่าการธำรงวินัยด้วยวิธีการไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจะทำให้นักเรียนที่ถูกลงโทษกลายเป็นคนเก็บกดก้าวร้าวได้ในอนาคต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.72 มีความคิดเห็นว่าหากมีการลงโทษอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่ออกคำสั่งธำรงวินัยด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมรุนแรงเกินกว่าเหตุจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการธำรงวินัยด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.75 มีความคิดเห็นว่าหากมีการลงโทษอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่ออกคำสั่งธำรงวินัยด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมรุนแรงเกินกว่าเหตุจะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อทหารให้มากขึ้นได้

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.82 และร้อยละ 67.48 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดหลักเกณฑ์/วิธีการ/ขั้นตอนปฏิบัติในการธำรงวินัยที่ชัดเจนและหากมีการออกข้อบังคับห้ามมิให้นักเรียนรุ่นพี่มีสิทธิ์ออกคำสั่งธำรงวินัยนักเรียนรุ่นน้องจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการธำรงวินัยด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุได้ตามลำดับ