ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง” สำรวจระหว่างวันที่ 16 ถึง 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,201 คน
การตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือเป็นกระบวนการยุติธรรมผ่านทางศาลโดยมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำหน้าที่ตัดสินความผิด/ให้ความเป็นธรรมกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งเกี่ยวกับคดีความร่ำรวยผิดปกติ คดีทุจริตต่อหน้าที่ เป็นต้น
ทั้งนี้ การตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือเป็นกระบวนการสำคัญที่จะมีส่วนช่วยควบคุมและลดการกระทำความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง แต่อย่างไรก็ตามผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าไม่ได้มีส่วนช่วยลดจำนวนนักการเมืองที่กระทำผิดกฎหมายได้มากนัก
จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.46 เพศชายร้อยละ 49.54 อายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.28 มีความคิดเห็นว่าการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีส่วนช่วยสร้างความสงบเรียบร้อย/ลดสถานการณ์ความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศได้
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.03 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดอย่างชัดเจนเข้าใจง่ายเกี่ยวกับการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้กับประชาชนได้รับทราบจะมีส่วนช่วยลดโอกาสการสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองของกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.19 มีความคิดเห็นว่าการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไม่มีส่วนช่วยลดการกระทำผิดกฎหมายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงได้ในอนาคต
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.78 เห็นด้วยกับการกำหนดให้โจทก์-จำเลยในคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถมีสิทธิ์ขอยื่นอุทธรณ์คำตัดสินคดีความได้ แต่เมื่อมีการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นที่สิ้นสุดแล้ว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 84.1 มีความคิดเห็นว่าทุกฝ่ายควรต้องยอมรับคำตัดสินโดยไม่มีการคัดค้าน/โต้แย้งใดใดเลยอีก และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 81.93 ไม่เห็นด้วยหากมีกลุ่มคนจะไปยื่นขอความเป็นธรรมกับองค์การ/องค์กรระหว่างประเทศในกรณีที่ไม่เห็นด้วย-ไม่ยอมรับกับคำตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ในด้านความคิดเห็นต่อการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 นี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.69 มีความคิดเห็นว่าหลังการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 นี้จะมีกลุ่มคนออกมาคัดค้าน/ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.11 มีความคิดเห็นว่าหลังการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 นี้จะไม่ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง-วุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศเป็นวงกว้าง
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.19 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาล/หน่วยงานความมั่นคงจะสามารถควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองหลังจากการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 นี้ได้
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.44 ระบุว่าตนเองไม่กลัวว่าหลังการตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 นี้จะมีกลุ่มคนผู้ไม่หวังดีออกมาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมือง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.82 ยอมรับว่ากลัว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.74 ไม่แน่ใจ
ในด้านความคิดเห็นต่อการให้กำลังใจผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการตัดสินคดีความ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60.95 ไม่เห็นด้วยกับการห้ามมิให้ประชาชนมารวมกลุ่มให้กำลังใจผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตนสนับสนุนบริเวณหน้าศาลในวันตัดสินคดีความ
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.97 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.08 ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างประมาณสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 80.93 เชื่อว่ามีการจัดตั้ง/ขน/เกณฑ์กลุ่มคนมาให้กำลังใจผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันตัดสินคดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.16 ระบุว่าไม่เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.91 ไม่แน่ใจ