1

สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผยคนไทยกว่า 50% ใช้เวลาในรพ.กว่า 8 ชม.

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการใช้บริการตรวจรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ” สำรวจระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม ถึง 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,203 คน

ปัจจุบันการให้บริการทางด้านสาธารณะสุขของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้บริการในสถานพยาบาลยังคงเกิดปัญหาดังที่ปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การที่มีแพทย์พยาบาลไม่เพียงพอกับการให้บริการโดยเฉพาะในสถานพยาบาลขนาดเล็กหรือขนาดกลาง การที่แพทย์พยาบาลต้องทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน การกระจุกตัวของแพทย์พยาบาลในเมือง การรอรับบริการตรวจรักษาพยาบาลเป็นเวลานานในแต่ละครั้ง หรือการบริหารจัดการการให้บริการของสถานพยาบาล เป็นต้น

ถึงแม้ภาครัฐจะได้พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาและความเอาใจใส่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันได้มีปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นซึ่งปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น คือ ปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินกับผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความรวดเร็วและความเอาใจใส่ของแพทย์พยาบาลในการดูแลรักษา

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวส่วนมากจะถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งนอกจากการเล่าเป็นตัวอักษรแล้วบ่อยครั้งยังมีการนำเสนอภาพหรือคลิปวิดิโอด้วยซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการถกเถียงระหว่างผู้คนในสังคม ซึ่งผู้คนส่วนหนึ่งได้แสดงความห่วงใยถึงปัญหาดังกล่าวและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบแก้ไขและทำความเข้าใจให้กับประชาชนมากขึ้น

จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการใช้บริการตรวจรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.71 เพศชายร้อยละ 49.29 อายุ 15 ปีขึ้นไป สรุปผลได้ดังนี้ในด้านระยะเวลาการใช้บริการตรวจรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐโดยเฉลี่ยต่อครั้งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 46.22 ระบุว่าตนเองใช้เวลาในการตรวจรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลของรัฐต่อครั้งในฐานะผู้ป่วยนอกโดยเฉลี่ยประมาณ 5 ถึง 8 ชั่วโมงนับจากเวลาที่เดินทางมาถึงสถานพยาบาลจนกระทั่งเวลาที่เดินทางออกจากสถานพยาบาล รองลงมาระบุว่าใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 5 ชั่วโมงซึ่งคิดเป็นร้อยละ 32.25 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.47 ยอมรับว่าใช้เวลามากกว่า 8 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยต่อครั้ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.06 ระบุว่าใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง

เมื่อเปรียบเทียบสาเหตุที่ส่งผลทำให้ผู้ใช้บริการต้องรอรับบริการในสถานพยาบาลของรัฐเป็นเวลานานระหว่างปัญหาจำนวนแพทย์พยาบาลมีน้อยกับปัญหาการบริหารจัดการการให้บริการ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.68 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากปัญหาการบริหารจัดการการให้บริการมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.32 ระบุว่าเกิดจากปัญหาจำนวนแพทย์พยาบาลมีน้อยมากกว่า

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.93 เชื่อว่าในปัจจุบันแพทย์พยาบาลส่วนใหญ่ในสถานพยาบาลของรัฐจำเป็นต้องปฏิบัติงานล่วงเวลาในสถานพยาบาลติดต่อกันยาวนานเกินไป โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.14 มีความคิดเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเพิ่มความเอาใจใส่สนใจแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการการให้บริการในสถานพยาบาลของรัฐให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

เมื่อปรากฏข่าวเกี่ยวกับปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลของรัฐกับผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วย กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.27 รู้สึกเห็นใจทั้งสองฝ่ายเท่าๆ กัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.52 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกเห็นใจผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยมากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.21 รู้สึกเห็นใจแพทย์พยาบาลมากกว่า

ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลของรัฐกับผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.15 มีความคิดเห็นว่าผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยไม่สมควรนำภาพ/คลิปวีดีโอที่ปรากฏใบหน้าแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินที่ตนเองมีปัญหากระทบกระทั่งมาเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 57.94 มีความคิดเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลของรัฐกับผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยมีส่วนบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของแพทย์พยาบาลโดยรวมได้

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.27 มีความคิดเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลของรัฐกับผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาการให้บริการในสถานพยาบาลของรัฐได้

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.2 ระบุว่าข่าวเกี่ยวกับปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลของรัฐกับผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยจะไม่ส่งผลให้ตนเองกลัวการไปใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐ

กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.78 และร้อยละ 54.61 มีความคิดเห็นว่าหากมีการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขั้นตอน/วิธีปฏิบัติ/ลำดับความสำคัญ-ความจำเป็นเร่งด่วนในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและมีการเพิ่มจำนวนแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลของรัฐจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยกับแพทย์พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลของรัฐได้ตามลำดับ