ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “การก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพ คนกรุงฯ ได้ประโยชน์หรือเสีย” สำรวจระหว่างวันที่ 1 ถึง 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,193 คน
จากมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาอนุมัติให้ดำเนินโครงการจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพ โดยให้เช่าที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์เป็นพื้นที่ก่อสร้างมีกำหนดสัญญาเช่าพื้นที่เป็นเวลา 30 ปี โดยในส่วนของงบประมาณในการก่อสร้างนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพร่วมกับภาคเอกชนต่างๆ
ทั้งนี้ ผู้คนในสังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการหอชมเมืองกรุงเทพกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพ เพราะจะกลายเป็นสัญลักษณ์ (Landmark) ของกรุงเทพมหานครและช่วยเพิ่มภาพลักษณ์การท่องเที่ยวรวมถึงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้คนอีกส่วนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินโครงการและแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัญหาการจราจรที่ติดขัด ปัญหามลภาวะ หรือการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในอนาคต
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลต่อโครงการหอชมเมืองกรุงเทพ
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.54 เพศชายร้อยละ 49.46 อายุ 15 ปีขึ้นไป สรุปผลได้ดังนี้ สำหรับความรับรู้เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าโครงการจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพนั้นไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาลในการก่อสร้างแต่รัฐบาลเป็นผู้ให้เช่าที่ดินราชพัสดุภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์เพื่อใช้ในการก่อสร้าง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.19 ทราบว่าโครงการจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐแต่ไม่ทราบว่ารัฐบาลเป็นผู้ให้เช่าที่ดินราชพัสดุภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.52 ไม่ทราบทั้งสองประเด็นเลย อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.29 ทราบทั้งสองประเด็น
ในด้านความคิดเห็นต่อโครงการหอชมเมืองกรุงเทพนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.28 เห็นด้วยที่จะมีการดำเนินโครงการจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.83 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.89 ไม่แน่ใจ
โดยที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.6 มีความคิดเห็นว่าโครงการหอชมเมืองกรุงเทพจะมีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศให้ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.52 มีความคิดเห็นว่าโครงการหอชมเมืองกรุงเทพจะมีส่วนดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นได้
ส่วนความตั้งใจที่จะเดินทางไปเที่ยวหอชมเมืองกรุงเทพนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.47 ระบุว่าตนเองตั้งใจจะไปหอชมเมืองกรุงเทพหลังจากที่มีการเปิดให้บริการ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.71 ยอมรับว่าจะไม่ไป อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.82 ระบุว่ายังไม่แน่ใจ
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อโครงการหอชมเมืองกรุงเทพนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.89 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพให้ประชาชนได้รับทราบมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.23 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจัดให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสนำเสนอความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่างๆเกี่ยวกับโครงการจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพ
สำหรับสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างกังวลมากที่สุด 3 อันดับเกี่ยวกับโครงการจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพคือ ความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ/การจัดการรายได้คิดเป็นร้อยละ 84.58 การจราจรติดขัดในบริเวณโดยรอบหอชมเมืองคิดเป็นร้อยละ 82.48 และมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 80.13
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.91 มีความคิดเห็นว่าโครงการหอชมเมืองกรุงเทพจะมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบกับวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนใกล้เคียงกับที่ตั้งหอชมเมือง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.74 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกลัวว่าในอนาคตหลังจากที่หอชมเมืองกรุงเทพเปิดให้บริการจะมีผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาแสวงหารายได้/ผลประโยชน์ต่างๆในบริเวณที่ตั้งหอชมเมือง ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าว