สยามลวดเหล็กฯ พัฒนาศักยภาพชุมชน หนุนตั้งธนาคาร สร้างอาชีพ สู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

0
442
image_pdfimage_printPrint

School-Bird

บริษัท สยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าลวดเหล็กแรงดึงสูงสำหรับงานคอนกรีตอัดแรงและลวดเหล็กตีเกลียวที่ใช้ในการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ยึดมั่นหลักการในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็ก ด้วยสำนึกความรับผิดชอบต่อผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงบทบาทในการมีส่วนร่วมสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชุมชน อันเป็นฐานรากสำคัญของการพัฒนาสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน

นายนิกร อ่องอ่อน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส-ทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไป กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายในการดูแลชุมชนท้องถิ่น โดยให้ผู้บริหารและพนักงานปฏิบัติต่อชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับบริเวณที่ตั้งโรงงานด้วยความเป็นมิตร และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนท้องถิ่น ด้วยเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจที่ดีต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กอปรกับการเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างระบบการพึ่งพาตนเองให้กับชุมชน ให้มีความเติบโตและเกิดความเข็มแข็งของโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน สยามลวดเหล็กฯ ได้ให้การสนับสนุนกิจการเพื่อพัฒนาชุมชน และสังคม ภายใต้โครงการ “การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง” School – Base Integrated Rural Development (School – BIRD) เพื่อเสริมสร้างรากฐานของชุมชนให้เข้มแข็ง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาการเกษตรควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการ ตลอดจนสนับสนุนการจัดตั้ง “ธนาคารพัฒนาชุมชนและโรงเรียน” ซึ่งเป็นกองทุนที่ทุกคนในชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ บริหารงานโดยคณะกรรมการธนาคารพัฒนาชุมชน เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชน และขยายผลไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนระดับหมู่บ้านในอนาคต

โครงการ “การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง” (School BIRD ) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 โดยนำร่องพัฒนา 6 โรงเรียน จาก 11 หมู่บ้าน ในพื้นที่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยความร่วมมือของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาด้านต่างๆ เข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการเกษตรและ การบริหารจัดการ โดยแบ่งการดำเนินกิจกรรมออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 2) การจัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อสังคมในโรงเรียนและโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน 3) การฝึกอบรมครูและผู้นำ 4) การพัฒนาด้านสังคม และ 5) กองทุนเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

คุณนิกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ที่บริษัท สยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชน โดยทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุน และเป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในทุกกระบวนการของการดำเนินโครงการ ให้กับชุมชน รวมถึงเป็นแรงผลักดันส่งเสริมให้ชุมชนมีการพัฒนาและเติบโตต่อไปอย่างเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สยามลวดเหล็กฯ ยังได้แบ่งพื้นที่บริเวณโรงงาน จำนวน 1 ไร่ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แปลงเกษตร “SIW 1 Rai Farm”เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรแบบผสมผสาน ที่สอดคล้อง

กับความสนใจของชาวบ้าน โดยยึดตามแนวทางวิถีการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่ชุมชน โรงเรียน พนักงาน หรือผู้สนใจทั่วไป เข้ามาศึกษาเป็นแนวทางปฏิบัติ หรือนำมาปรับใช้เพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือนอีกด้วย

ซึ่งทั้ง 6 โรงเรียนนำร่อง ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองละลอก โรงเรียนวัดละหารไร่ โรงเรียนวัดดอนจันทน์ โรงเรียนบ้านมาบตอง โรงเรียนวัดหนองกระบอก และโรงเรียนวัดเชิงเนิน มีแปลงเกษตรโรงเรียนที่ให้นักเรียนบริหารจัดการเพื่อเรียนรู้เทคนิคด้านการเกษตร อาทิ การปลูกมะนาวนอกฤดู การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การปลูกสมุนไพร การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เพื่อนำไปต่อยอดสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวในอนาคต ขณะเดียวกันแต่ละโรงเรียนก็ยังมีรายได้จากผลผลิตนำมาเป็นกองทุนอาหารกลางวันสำหรับเด็กในโรงเรียน

ส่วนการจัดตั้งธนาคารพัฒนาชุมชนและโรงเรียน ได้เปิดดำเนินการมาแล้วประมาณ 1 ปีเศษ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาชุมและโรงเรียนบ้านหนองละลอก, ธนาคารพัฒนาชุมและโรงเรียน วัดดอนจันทน์, ธนาคารพัฒนาชุมและโรงเรียนบ้านมาบตอง, ธนาคารพัฒนาชุมและโรงเรียน วัดหนองกระบอก, ธนาคารพัฒนาชุมและโรงเรียน วัดละหารไร่ และธนาคารพัฒนาชุมและโรงเรียนวัดเชิงเนิน นอกจากนี้ มีการจัดฝึกอบรมการบริหารจัดการในระบบธนาคาร เพื่อให้ชุมชนสามารถเริ่มธุรกิจขนาดเล็กและสร้างรายได้ โดยนำสินเชื่อมาใช้เป็นต้นทุน ปัจจุบันมีชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของธนาคาร รวมจำนวน 306 คน และมีชาวบ้านจำนวนมากได้ริเริ่มธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน เช่น ทำสวนมะนาว ทำขนม เปิดร้านขายของชำ เพ้นท์แก้ว เลี้ยงปลา และเพาะเห็ด เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านต่อครัวเรือนมากขึ้นจากเดิม 30-40%

โครงการฯ ดังกล่าว ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของสยามลวดเหล็กฯ ที่ได้ร่วมสร้างประโยชน์และเพิ่มคุณค่า ให้กับชุมชนและสังคมได้มีความคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้พันธกิจ “เคียงคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนและท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้หรือเป็นแบบอย่างการปฏิบัติที่ดีแก่ชุมชนอื่นต่อไป คุณนิกร กล่าวทิ้งท้าย

คุณภัสราภรณ์ ธีร์ธนพงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองละลอก กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนบรรจุวิชาการเกษตรไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน โดยจะเน้น 2 สาระสำคัญ คือ 1.การงานอาชีพ ซึ่งจะรวมวิชาการเกษตรเข้าไปด้วย โดยคุณครูประจำชั้นจะพานักเรียนมาเรียนที่แหล่งเรียนรู้การเกษตร และ 2. สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม โดยจะสอดแทรกแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อปลูกฝังให้เด็กนักเรียนรู้จักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันจากแหล่งเรียนรู้การเกษตร โดยจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามระดับชั้น เด็กเล็ก ก็จะมีหน้าที่รดน้ำ ถอนหญ้า ส่วนเด็กโต ก็จะมีหน้าที่พรวนดิน ให้ปุ๋ย เก็บผลผลิต เป็นต้น

ซึ่งการได้รับความสนับสนุนเงินทุน จากบริษัท สยามลวดเหล็กฯ และมูลนิธิมีชัย นอกจากจะช่วยให้เราสามารถเลี้ยงตัวเองได้ นักเรียนยังมีแหล่งเรียนรู้การเกษตรที่เป็นรูปธรรม รู้เทคนิคการทำเกษตรตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต อีกทั้งยังได้ฝึกทักษะการทำงาน และความรับผิดชอบให้กับนักเรียนอีกด้วย ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละวันนักเรียนก็จะนำไปจำหน่ายให้กับผู้ปกครองที่มารอรับนักเรียนในตอนเย็น ซึ่งสามารถสร้างรายได้ประมาณ 2,000-3,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งโรงเรียนจะนำเงินส่วนนี้ไปซื้อดิน หรือเมล็ดพันธุ์ เพื่อนำมาปลูกใหม่หมุนเวียนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเยี่ยมบ้านนักเรียน ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ซึ่งจะใช้โอกาสนี้ไปดูว่า นักเรียนได้นำความรู้ไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน บางครั้งผู้ปกครองเองก็เข้ามาสอบถาม ความรู้การปลูกพืช ผัก จากสวนเกษตรของโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชนอีกทางหนึ่ง

ด.ญ.ธารารัตน์ เดชกุลรัมย์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองละลอก เล่าว่า ปัจจุบันที่บ้านประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และปลูกพืชสวนครัวไว้ทานกันเอง เช่น มะเขือ ผักชี พริก ต้นหอม เป็นต้น โดยนำเมล็ดพันธุ์จากที่โรงเรียนมาปลูก ส่วนใหญ่ใช้เวลาหลังเลิกเรียนหรือวันหยุด ช่วยรดน้ำ ถอนหญ้า หรือบางทีก็ไปช่วยพ่อกับแม่เก็บผลผลิต แต่ถ้าช่วงไหนที่เก็บได้เยอะก็จะแบ่งไปขาย และบ้างก็ปันให้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชั้น ด.ญ.วัชราภรณ์ โจมเสนาะ ซึ่งที่บ้านประกอบอาชีพกรีดยาง และขายของชำ นอกจากนี้ยังปลูกถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง ฝักทอง ไว้ทานเองด้วย เพราะมีพื้นที่ปลูกไม่มาก โดยนำความรู้ที่ได้จากการทำกิจกรรมสวนเกษตรในโรงเรียน มาช่วยลุงปลูก ทำให้รู้ว่าผักแต่ละประเภทปลูกยังไง และต้องดูแลยังไง หรือถ้ามีปัญหาเรื่องเกษตรก็สามารถไปปรึกษาคุณครูที่ดูแลสวนเกษตรได้ ซึ่งรู้สึกสนุกและมีความสุขที่ได้ช่วยลุงกับป้าทำงาน

คุณโชติชัย บัวดิษ ผู้จัดการธนาคารชุมชนบ้านมาบตอง กล่าวว่า ความสำคัญของการจัดตั้งโครงการธนาคารชุมชน มุ่งเน้นการส่งเสริมอาชีพและสร้างวินัยการออมให้กับชุมชน ด้วยการสนับสนุนเงินทุนธนาคาร จากบริษัท สยามลวดเหล็กฯ ปัจจุบันมีสมาขิก 112 คน วงเงินกู้รวมกว่า 500,000 บาท โดยมีการบริหารจัดการธนาคารตามระบบธนาคารจริง ซึ่งภาพรวมพื้นฐานคนในชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างถิ่นและหลากหลายอาชีพ เช่น ทำเกษตร ปลูกมัน ขายก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวแกง ซื้อ-ขายผลไม้ เป็นต้น ดังนั้น เราจึงต้องมีการตรวจสอบข้อมูลของผู้กู้แต่ละรายก่อนว่าประกอบอาชีพอะไร รวมถึงการติดตามผลว่าเมื่อรับเงินไปแล้ว นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หรือประกอบอาชีพแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เราก็จะให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ตลอดจนช่วยเหลือในการหาตลาดให้กับชุมชนด้วย นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขว่า สมาชิกที่มาสมัครจะต้องซื้อหุ้นกู้ตั้งแต่ 20 บาท แต่ไม่เกิน 2,000 บาท และจะได้รับเงินปันผลทุกสิ้นปี โดยมีข้อกำหนดว่า สมาชิกแต่ละคนจะต้องฝากสัจจะออมทรัพย์ ซึ่งต้องฝากทุกเดือน ไม่เกิน 500 บาท ดังนั้น ถ้าเรามีสมาชิกมากเราก็จะมีเงินหมุนเวียนในระบบธนาคารที่ดีขึ้น ที่สำคัญสมาชิกแต่ละรายก็จะมีเงินออมทุกเดือนไปโดยปริยาย ซึ่งจากการดำเนินโครงการฯ นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ชุมชนมีกำลังใจในการประกอบอาชีพมากขึ้นแล้ว ยังคาดว่าชุมชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 30-40% ต่อครัวเรือน

คุณนงเยาว์ ปลดปลิด ชาวบ้านจากชุมชนบ้านมาบตอง กล่าวว่า เดิมทีเปิดร้านขายของกับหลานมีรายได้ประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน และคิดอยากมีอาชีพและรายได้เป็นของตนเอง แต่ติดที่เราไม่มีทุน ซึ่งหลังจากที่บริษัท สยามลวดเหล็กฯ และมูลนิธิมีชัย เข้ามาสนับสนุนและให้ความรู้ แนะแนวทางให้การประกอบอาชีพ ทำให้มีความหวังมากขึ้น จึงตัดสินใจกู้เงินจากธนาคารชุมชนมาส่วนหนึ่งเพื่อมาทำร้านซักรีดเป็นของตัวเอง ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังรับงานได้ไม่เต็มที เพราะมีเครื่องซักผ้าเพียงเครื่องเดียว แต่ก็ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายของอีกราว 4,500 บาท ต่อเดือน รู้สึกดีใจที่มีโครงการดีๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนตรงนี้ ทำให้เราและคนในชุมชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น และยังมีเงินออมเก็บไว้ใช้ในอนาคตอีกด้วย