บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาคูโบต้าเอเชีย KUBOTA RESEARCH & DEVELOPMENT ASIA ด้วยงบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดจนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียนในภาคการเกษตร และตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลิต
นายฮิโรชิ คาวาคามิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “ศูนย์วิจัยและพัฒนาคูโบต้าเอเชีย หรือ KUBOTA RESEARCH & DEVELOPMENT ASIA เกิดจากวิสัยทัศน์ของคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนที่ตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดรับกับทิศทางการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคนในภาคเกษตรกรรม ซึ่งบริษัทฯ เข้าใจถึงความต้องการของตลาดและเกษตรกรผู้ใช้งานจริง ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเทศที่มีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี ทำให้ผลิตภัณฑ์ของคูโบต้ามีความโดดเด่นและสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่เกษตรกรทั่วโลก มุ่งสร้างการพัฒนาสินค้าคูโบต้าสู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก หรือ Global Major Brand ”
สยามคูโบต้า ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดจนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรที่เน้นในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานที่หลากหลายสำหรับนาข้าวและทุกพืชไร่มาโดยตลอด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรในระดับภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน จึงทำให้ล่าสุดสยามคูโบต้าได้ทุ่มงบการลงทุนกว่า 600 ล้านบาท สร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาคูโบต้าเอเชีย หรือ KUBOTA RESEARCH & DEVELOPMENT ASIA โดยตั้งอยู่ที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ซึ่งนับเป็นศูนย์ R&D แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน” นายฮิโรชิ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนาคูโบต้าเอเชีย ได้รับการออกแบบสำหรับการวางแผนวิจัยและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและครบวงจรในทุกขั้นตอน เพื่อให้ผลการทดสอบมีประสิทธิภาพแม่นยำสูงสุด อีกทั้งยังมุ่งหวังผลักดันภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของคู่ค้า เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ ในประเทศให้พัฒนาสู่ระดับสากลมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรไทย และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) รวมถึงอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน