สยามคูโบต้าจัดกิจกรรม “KUBOTA Smart Farmer Camp” ปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “คลุก ดิน ฟิน เฟร่อ” ปั้นเยาวชนสู่เกษตรกรยุคใหม่

0
499
image_pdfimage_printPrint

แม้ว่าประเทศไทยเรานั้นจะเป็นประเทศเกษตรกรรม มีองค์ความรู้ในการทำการเกษตรสืบทอดกันมายาวนาน แต่ในปัจจุบันการทำการเกษตรกลับกลายเป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจน้อยลง รวมทั้งยังขาดแคลนเยาวชนรุ่นใหม่ที่สามารถใช้องค์ความรู้มาผสานต่อยอดกับเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการเกษตร ให้เป็น Smart Farmer โดยทางสยามคูโบต้า เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และจัดเป็นนโยบายทางด้าน CSR ของบริษัทฯ เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตร ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ จึงได้มีโครงการค่ายยุวเกษตรมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปี โดยใน 5 ปีหลังใช้ชื่อว่า “KUBOTA Smart Farmer Camp”
และในปี 2561 นี้ โครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด “คลุก ดิน ฟิน เฟร่อ” เนื่องจากดินเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรกรรมทุกชนิด บริษัทฯ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำเกษตรกรรมที่แท้จริงตั้งแต่ การเลือกตรวจชุดดินและวิเคราะห์ดินที่เหมาะสม รวมถึงการบำรุงดิน ตลอดจนการเรียนรู้การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการทำการเกษตรในยุค 4.0 โดยมีเยาวชนที่สนใจ ส่งใบสมัครกว่า 1,200 คน จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และได้ทำการคัดเลือกเยาวชนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่โครงการกำหนดเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 100 คน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอด 5 วัน ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งที่สาม ที่สยามคูโบต้าและชุมชนได้ร่วมมือกันพัฒนาขึ้น โดยมีจุดแข็งที่การดำเนิน “กิจกรรมทางการเกษตรที่มีความหลากหลาย” เชื่อมโยงกัน ทั้งการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ทางบริษัทฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของเยาวชน และคิดว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่จะสามารถช่วยพัฒนาเรื่องของเกษตรกรรมของประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปได้ เกษตรกรรมในยุคใหม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรรมที่ประณีต แม่นยำ คือการนำเอาองค์ความรู้มาใช้ต่อยอดร่วมกับเทคโนโลยี รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อลดต้นทุน ลดความเสี่ยง ลดความลำบาก และลดเวลา เพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกเข้าสู่ยุคของ IOT ( Internet of Thing) ที่มีมูลค่าสูงสุดอยู่ในภาคการเกษตร สิ่งเหล่านี้จะมาช่วยพัฒนาเรื่องของการเกษตรให้ก้าวไกล สามารถนำไปต่อยอดทางการเกษตร หรือประยุกต์ใช้กับโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เป็นอย่างดี

สำหรับกิจกรรมไฮไลท์ที่น้องๆ นักศึกษาได้เข้าร่วมตามแนวคิดของปีนี้ เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ที่หาไม่ได้ในรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มจาก “คลุก” น้องๆ จะได้คลุกคลีใกล้ชิดกับชุมชนที่เข้มแข็งและชาวบ้านที่อบอุ่น ภายในศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า เรียนรู้ผ่านสิ่งที่ชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันทำจนประสบความสำเร็จ … “ดิน” น้องๆ ได้เรียนรู้วิธีจัดเตรียมและบำรุงรักษาดินอย่างถูกต้อง จากกูรูเรื่องดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น…“ฟิน” กับพี่เปอร์ สุวิกรม และคุณโจ้ หนึ่งในเจ้าของร้านโอ้กะจู้ ซึ่งเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจเติมไฟความฝันให้กับน้องๆ… “เฟร่อ” น้องๆ ได้เปิดโลกการเกษตรยุค 4.0 พร้อมปรับแนวคิดสู่การเกษตรแม่นยำ และยังได้สัมผัสกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรจริงที่ล้ำสมัย
น้องไนซ์ – นายปัญญวุฒิ ล่วนเส้ง อายุ 21 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ชั้นปีที่ 3 เล่าว่า “เหตุผลที่ผมเลือกเรียนภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร เพราะ เชื่อว่าสิ่งที่ตนเลือกเรียนน่าจะมาพัฒนาในสิ่งที่เกษตรกรรมบ้านเราขาดได้ ส่วนที่มาร่วมในกิจกรรมนี้ เพราะปีนี้โครงการได้มุ่งเน้นการเปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมมาเข้าร่วมด้วย และคณะที่ผมเรียนนั้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการเกษตรจำพวกเครื่องจักรอยู่แล้ว ผมอยากเห็นสิ่งที่เกษตรกรจริงๆ ทำ จึงต้องมาเรียนรู้ปัญหาก่อน เพื่อที่จะได้สามารถประยุกต์วิชาความรู้ด้านวิศวกรรมมาใช้กับเกษตรกรรมได้อย่างจริงจังครับ” น้องไนซ์ มองว่าสิ่งที่น่าจะเอาความรู้ด้านวิศวกรรมมาผสมผสานกับการเกษตรได้เท่าที่เห็นขณะนี้ก็เช่น การสร้างระบบอัตโนมัติ ยกตัวอย่างในระบบโรงเรือน ที่ตื่นเช้าขึ้นมาน้ำก็ไหลให้ปุ๋ยอัตโนมัติเอง ลดแรงงาน เวลา และเพิ่มผลผลิตได้
น้องมีน – นางสาวสุภณิดา คำมะ อายุ 20 ปี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้นปีที่ 3 เล่าถึงสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่า “ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพราะเป็นกิจกรรมที่จะทำให้ตนเองได้มีโอกาสเรียนรู้และนำประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรมไปต่อยอดวิชาการเกษตรที่เรียนได้ สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้ ได้ความรู้ด้านการเกษตรกลับไปมาก เพราะเป็นเรื่องของเกษตรทั้งหมด เช่น การอบรมเรื่องดินก็เหมือนได้เรียนอีกรอบหนึ่ง แต่แตกต่างตรงที่ได้ปฏิบัติจริง ได้สอบถามแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านมากขึ้น ชาวบ้านก็จะแนะนำหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ เข้าใจง่ายกว่าตอนที่เรียน การได้แลกเปลี่ยนกันเหมือนเป็นการกระตุ้นความมั่นใจในสิ่งที่ได้เรียนมา” สำหรับมุมมองทางการเกษตรของคนรุ่นใหม่นั้นน้องมีนมองว่า “เป็นเรื่องจำเป็นเพราะสิ่งที่เราบริโภค ก็มาจากสิ่งที่เราปลูก เราเลี้ยง ทั้งพืชทั้งสัตว์ แม้จะเป็นอาชีพที่เหนื่อยแต่ก็เป็นอาชีพที่มีความสุขในตัวของมันเอง จบไปแล้วฝันไว้ว่าคงต้องเริ่มจากการทำงานบริษัททางการเกษตรก่อนเพื่อเริ่มต้นเก็บรอนทุนทรัพย์ เมื่อมีทุนแล้วอยากจะทำเป็นเรื่องของศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตร ใช้ศาสตร์พระราชาเข้ามาช่วยในการเรียนรู้ มากกว่าทำธุรกิจทางการเกษตรค่ะ”
น้องอาย – นางสาว ชุติมา บำรุงเมือง อายุ 20 ปี คณะนวัตกรรมการจัดการการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ชั้นปีที่ 3 น้องอายเล่าว่ามาเรียนคณะนี้เพราะสนใจในเรื่องการเกษตรเป็นการส่วนตัว เพราะที่บ้านไม่ได้เป็นเกษตรกร และวิชาการเกษตรของคณะค่อนข้างจะตอบโจทย์ของการเกษตรในยุคนี้ เพราะได้เรียนทั้งเกษตรควบคู่กับการตลาดด้วย เพราะคิดว่าการจะทำการเกษตรในปัจจุบันจำเป็นต้องทราบในเรื่องของตลาดก่อน จึงจะประสบความสำเร็จ น้องอายกล่าวอีกว่า “เมื่อมาเข้าค่ายทำให้เราได้รับประสบการณ์จริง สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนที่คณะได้ เพราะไม่ได้มีครอบครัวเป็นเกษตรกร นอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้กับวิชาอื่นๆ ได้ เช่น เมื่อต้องเรียนวิชาเครื่องจักรกล ที่ต้องใช้แทรกเตอร์ ที่ค่ายนี้มีโอกาสให้เราทดลองใช้ก่อนเพื่อนๆ การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้เห็นว่าเกษตรกรที่นี่ต่างก็ประสบความสำเร็จในการเป็นเกษตรกรของตนกันหมด ดีกว่าที่คิดเอาไว้มาก วันข้างหน้าคิดว่าคงเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกษตรกรรมบ้านเราให้มีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไปค่ะ”
จากสิ่งดีๆ ของกิจกรรม “KUBOTA Smart Farmer Camp” ที่ทางสยามคูโบต้าให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การสร้างและพัฒนาเยาวชนในวงการเกษตรกรรม ให้มีแรงบันดาลใจ มีทัศนคติที่ดี มีความคิดที่จะกลับไปช่วยพัฒนาท้องถิ่น และกลายเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ครบเครื่องทั้งวิชาความรู้ ความรู้จากประสบการณ์ ไปจนถึงการต่อยอดด้านเทคโนโลยี เตรียมพร้อมสำหรับเกษตรกรในโลกยุค 4.0 เป็นสิ่งที่บริษัทฯ มุ่งตอบแทนสังคม และหวังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมไทยให้มั่นคงอย่างยั่งยืน

# # # #