สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอูด แห่งซาอุดิอาระเบีย พระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้คว้ารางวัล King Faisal International Prize ประจำปี 2560 ในพิธีสุดยิ่งใหญ่ที่มีบุคคลผู้ทรงเกียรติร่วมเป็นสักขีพยานมากมาย ทั้งเจ้าชาย รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้นำทางความคิด นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/486450/King_Faisal_International_Prize_2017.jpg )
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/486424/King_Faisal_International_Prize_Infographic.jpg )
รางวัล King Faisal International Prize ให้การยกย่องความสำเร็จอันโดดเด่นในหลากหลายสาขา ได้แก่ ภาษาและวรรณกรรมอาหรับ แพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สำหรับการมอบรางวัลครั้งที่ 39 ในปีนี้ มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยได้รับรางวัล 4 ท่าน
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานตรัสยกย่องความพยายามของเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม ทั้งยังทรงชื่นชมรางวัล King Faisal International Prize ว่ามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างองค์ความรู้และผลักดันให้เกิดการวิจัยใหม่ๆ เพื่อความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานพระราชทานรางวัล King Faisal International Prize สาขาแพทยศาสตร์แก่ศาสตราจารย์ ทาดามิตสึ คิชิโมโตะ จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเชิดชูบทบาทในการพัฒนาชีวบำบัดรูปแบบใหม่เพื่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยศ.คิชิโมโตะเป็นศาสตราจารย์ประจำศูนย์วิจัยด้านวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า
พร้อมกันนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานได้พระราชทานรางวัล King Faisal International Prize สาขาวิทยาศาสตร์แก่ศาสตราจารย์ แดเนียล ลอสส์ และศาสตราจารย์ ลอว์เรนส์ โมเลนแคมป์ นักฟิสิกส์จากสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี ซึ่งทั้งสองได้รับรางวัลร่วมกัน โดยศ.แดเนียล ลอสส์ เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่ศ. ลอว์เรนส์ โมเลนแคมป์ เป็นศาสตราจารย์และหัวหน้าหน่วย MBE Unit มหาวิทยาลัยเวิร์ซบวร์ก ประเทศเยอรมนี
ศ. แดเนียล ลอสส์ ได้รับรางวัลนี้จากผลงานในเรื่องของทฤษฎีพลศาสตร์การหมุนและความสืบเนื่องของการหมุนในควอนตัมดอท ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในคอมพิวเตอร์ควอนตัมสปิน ส่วนศ. ลอว์เรนส์ โมเลนแคมป์ ได้รับการยกย่องจากผลงานการทดลองเกี่ยวกับสปินทรอนิกส์
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ริดวาน อัล-ซายยิด จากมหาวิทยาลัยเลบานอน ได้รับการยกย่องจากผลงานตีพิมพ์และรายงานวิจัยเฉพาะทาง ซึ่งช่วยยกระดับคลังหนังสืออาหรับให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
รางวัล King Faisal International Prize ก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิ King Faisal Foundation และมีการมอบรางวัลเป็นครั้งแรกในปี 2522 เพื่อให้การยกย่องผลงานอันโดดเด่นของบุคคลและสถาบันในหลากหลายสาขา นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัล King Faisal International Prize มักได้รับรางวัลทรงเกียรติอื่นๆ ในหลายปีถัดมา ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับรางวัล King Faisal International Prize 18 ราย ได้รับรางวัล Nobel Prize ในภายหลัง ขณะที่ 13 รายได้รับรางวัล Gairdner Foundation International Award ส่วน 11 รายได้รับรางวัล American National Medals of Science และ 9 รายได้รับรางวัล Lasker Medical Award ตลอดจนรางวัลอันทรงเกียรติอีกมากมาย
ติดต่อ: Noura Sankour โทร. +971(0)568797444 อีเมล: nora@hadathgroup.com
ที่มา: King Faisal International Prize