“สมาคมเพื่อนชุมชน” ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดระยอง ป้อนพยาบาลรุ่น 3 เข้าระบบปฎิบัติการในโรงพยาบาลต่างๆจ.ระยอง แล้วกว่า 300 คน ด้านสาธารณสุขจังหวัดระยองประเมินภาพรวมบุคลากรสาธารณสุขพบว่ายังขาดแคลนหลังอีอีซีเกิดการลงทุน
นางวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้บริหารสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ได้จัดพิธีรับรายงานบุคลากรสาธารณสุข จังหวัดระยอง ประจำปี 2560 โดยเป็นการดำเนินงานของสมาคมฯร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขในการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุคลากรสาธารณสุข ในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนทุนพยาบาลเพื่อปฏิบัติงานประจำโรงพยาบาลในพื้นที่ จังหวัดระยอง รวมแล้ว 296 ทุนจากเป้าหมายการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด 440 ทุนซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญของสมาคมฯ ในการเข้าไปมีส่วนเติมเต็มความต้องการด้านบุคลากรสาธารณสุขของจังหวัดระยองที่ขาดแคลน
นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์มาประจำ ณ โรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดระยอง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แพทย์เกษียณอายุ นักเทคนิคการแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข เพื่อไปปฎิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 21 อัตราต่อปี
“นักเรียนทุนพยาบาลที่เรียนจบมาก็ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดระยองโดยจะแยกไปอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดระยอง ถือเป็นความภูมิใจที่สมาคมเพื่อนชุมชนได้มีส่วนช่วยสนับสนุน ที่น้องได้มีงานที่เข้มแข็ง มีหน้าที่ที่สำคัญ ในการดูแลคนไข้”
นายแพทย์สุนทร เหรียญภูมิการกิจ รองสาธารณสุขจังหวัดระยอง กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดระยองปัจจุบันได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของรัฐบาลให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC ) รวมทั้งยังจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของจำนวนประชากรทั้งในระบบ ประชากรแฝง รวมถึงนักท่องเที่ยว อีกหลายเท่าตัว ดังนั้นในด้านสาธารณสุขภาครัฐยังให้การสนับสนุนงบประมาณแต่ในด้านการจัดหาบุคคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุขยังคงจัดหาได้ไม่เพียงพอเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบสาธารณสุข
การดำเนินงานของภาคเอกชน โดยสมาคมเพื่อนชุมชน ที่ได้เข้ามาสนับสนุนมอบทุนการศึกษากับพยาบาล ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาทำให้สามารถผลิตพยาบาล ป้อนเข้าสู่ระบบสาธารณสุขของจังหวัดระยองได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการลดช่องว่างจำนวนบุคคลากรที่ยังขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ การขยายตัวของประชากรในพื้นที่จะยังคงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของภาคการลงทุนและการท่องเที่ยว ซึ่งหากคำนวณการให้บริการด้านสาธารณสุข บุคลากรการแพทย์ต่อการให้บริการประชากร ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ เพราะโดยเกณฑ์ปกติแล้ว จะต้องมีแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 10,000 คนส่วนพยาบาลจะต้องมี 1 คนต่อจำนวนประชากร 2,500 คน เพราะเป็นอัตราที่เหมาะสมต่อประสิทธิภาพการให้บริการและการรักษา
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยของความพร้อมด้านงบประมาณ และจำนวนนักศึกษาที่จะเลือกเรียน เพราะอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูงทำให้บุคลากรที่จะการเลือกเรียนมีจำนวนน้อยลง ดังนั้นการสนับสนุนโครงการครั้งนี้ โดยสมาคมเพื่อนชุมชนถือเป็นการสร้างโอกาส และช่วยสาธารณสุขจังหวัดได้อย่างดีในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของจังหวัดระยอง