สมาคมฯรถร่วม ขสมก.สานฝันนายกฯ ติดตั้งระบบ อี-ทิคเก็ตเตรียมเชิญสื่อมวลชน ทดลองระบบหักหน้า ขสมก.กับ ช ทวี
ขสมก.วุ่น ไม่เลิก อี-ทิคเก็ต ช ทวี ไม่สมราคาที่คุยไว้กับนายกรัฐมนตรี เครื่อง อี-ทิคเก็ต ไม่สามารถติดตั้งได้ทันเวลา แถมระบบเซริฟเวอร์ไม่เชื่อมต่อกับระบบส่วนกลางของธนาคารกรุงไทย ชี้ ขสมก.เสียประโยฃน์ไม่ได้รับเงินค่าโดยสาร ตั้งข้อสงสัยอาจ ซูเอี๋ยกับเอกชน แก้ผ้าเอาหน้ารอด มักง่ายออกคูปองรับรถแทนเพื่อคิดเงินย้อนหลังแถมเอาเครื่องโมบายด์โฟนที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์ มาเรียกเก็บเงินจากบัตรสวัสดิการแทน จี้ตรวจสอบผิดกฏหมายหรือไม่? ขณะที่นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง และสมาชิกรถร่วม ขสมก.เกือบ 2 พันคัน พร้อมใจสานฝันนายกฯติดตั้ง อี-ทิคเก็ต เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เชื่อมโยงรถไฟฟ้าได้ทั้งระบบ
หลังจากที่นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กรณีเรียกร้องให้นายณัฐชาติ จารุจินดาประธานบอร์ด ขสมก.สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบสัญญาต่างๆ และการดำเนินการของ บริษัท ช.ทวี จํากัด (มหาชน) และเร่งรัดให้บริษัทฯ ดำเนินการปฏิบัติตามสัญญาและ TOR ที่กำหนด หากไม่มีความพร้อม และหากไม่สามารถติดตั้งระบบ E -Ticket ตามเวลาที่กำหนด เห็นควรให้บอกเลิกสัญญาทันที และให้บริษัทฯ อื่นที่มีความพร้อมความชำนาญเข้ามาดำเนินการ เพื่อมิให้องค์การได้รับความเสียหาย และให้องค์การ ขสมก.ต้องปฏิบัติ ตามสัญญาอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ ขสมก.โดยไม่เปิดช่องเอื้อประโยชน์ร่วมกับเอกชน
ขณะที่ ขสมก.กำลังปวดหัวกับผลงานติดตั้งเครื่อง อี-ทิคเก็ต บริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน)ที่ล้มเหลวไม่สามารถใช้งานได้จริงแล้ว เช้าวันนี้( 6 พ.ย.) นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เผยต่อผู้สื่อข่าวว่า อีก 2-3 วันสมาคมฯจะเปิดตัวอุปกรณ์ อี-ทิคเก็ต ที่สามารถรองรับ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ โดยจะเชิญสื่อมวลชนเพื่อทดสอบระบบว่าใช้งานได้จริงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและ ขสมก.หรือไม่?
ทั้งนี้ทางสมาคมฯเล็งเห็นถึงความสำคัญที่รัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของท่านนายกฯพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา มีความปรารถนาดีต้องการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนรถใหม่ ติดตั้งจีพีเอส และอุปกรณ์รองรับการเก็บค่าโดยสารอี-ทิคเก็ต ที่สามารถใช้ร่วมกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆได้ โดยทางสมาคมฯที่มีสมาชิกรถร่วม ขสมก.ให้บริการกว่า 1,200 คันและเพื่อนๆรถร่วมอื่นๆที่อยู่นอกสมาคมอีกเกือบๆ800 คัน รวมแล้วเกือบ 2,000 คันพร้อมที่จะสานฝันท่านนายกฯทุกข้อให้เป็นจริง พร้อมพัฒนาเปลี่ยนรูปแบบรถร่วมให้เข้ากับนโยบายปฏิรูปรถโดยสารทั้งระบบของรัฐบาล และมีส่วนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางแก่พี่น้องชาวกรุงเทพฯทั้งนี้คาดว่า อีก 2-3 วันจะเชิญสื่อมวลชนมาทดลองระบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ระบบอี-ทิคเก็ต ของบริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน)ไม่สามารถใช้งานได้จริง ไม่สามารถหักเงินสวัสดิการจากภาครัฐได้ จะส่งผลให้ ขสมก. ได้รับความเสียหาย ขาดรายได้ประจำวันเป็นจำนวนมหาศาล หากคำนวนจากการที่ภาครัฐเคยสนับสนุน ขสมก.โครงการรถเมล์ฟรีจากเงินภาษีประชาชน ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2551 สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา แรกเริ่ม ขสมก.ได้รับเงินจากภาครัฐ 8,000บาท ต่อคันต่อวัน มาจนถึงสมัยนี้รัฐบาลสนับสนุนให้ ขสมก.ถึงวันละ 12,000 ต่อคันต่อวัน โดยที่ ขสมก.มีรถที่อยู่ในโครงการรถเมล์ฟรี 800 คันเท่ากับ ขสมก.ได้รับเงินจากภาครัฐตกวันละ 9.6 ล้านต่อวัน หรือ 288 ล้านต่อเดือน
ปรากฏว่า เมื่อมีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้ามาแทนที่โครงการรถเมล์ฟรีก็ถูกยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษจิกายนที่ผ่านมานั้น อาจส่งผลให้ ขสมก.มีปัญหาเรื่องรายได้และอาจถึงขั้นวิกฤติ ซ้ำร้ายอุปกรณ์ อี-ทิคเก็ต ของบริษัท ช ทวี จำกัดไม่สามารถส่งมอบรายได้ให้แก่ ขสมก. รวมทั้งปัญหาดังกล่าวยังไม่มีคำตอบทั้งจากผู้บริหารบริษัท ช ทวี ปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้เมื่อไหร่และการแก้ปัญหาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดที่ผ่านมาของ ขสมก.นั้นผิดกฎหมายและถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่?