สมาคมสถาปนิกวอนภาครัฐทบทวนก่อสร้างสะพานเกียกกาย

0
923
image_pdfimage_printPrint

สมาคมสถาปนิกวอนภาครัฐทบทวนก่อสร้างสะพานเกียกกาย เผยไม่คุ้มค่าในการลงทุนและบดบังทัศนียภาพรัฐสภาแห่งใหม่

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ร่วมมือกับคณะตัวแทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ประชุมหารือโครงการสร้างสะพานข้ามแยกเกียกกาย ด้วยงบลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท ระบุโครงการนี้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งยังบดบังความสง่างาม และความปลอดภัยของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่เป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญของชาติ ในฐานะเป็นศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน

จากกรณีที่ กรุงเทพมหานครมีโครงการที่จะก่อสร้างสะพานเกียกกาย เพื่อเชื่อมถนนระหว่างสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยโครงข่ายสะพานและทางยกระดับระยะทาง 5.9 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งงบดังกล่าวเป็นงบประมาณที่สูง ดังนั้น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ในฐานะองค์กรวิชาชีพ ซึ่งมีพันธกิจต่อสาธารณะในการส่งเสริมคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมเมืองและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีหน้าที่ให้ความเห็นในโครงการที่อาจส่งผลต่อสังคมหรือกายภาพของประเทศ จึงได้ร่วมประชุมกับผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อร่วมประชุมและหารือในหัวข้อ “การทบทวนโครงการก่อสร้างสะพานเกียกกาย” ซึ่งเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม

ดร.อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) กล่าวว่า ภายหลังจากที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้เสนอกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครให้จัดทำโมเดลใหม่ เพื่อศึกษาแนวเส้นทางและผลกระทบการก่อสร้างสะพานเกียกกาย ที่เห็นว่าจะส่งกระทบในด้านผังเมืองและสภาพแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปในโครงการดังกล่าวแล้วในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้จัดประชุมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานนโยบายและแผนขนส่ง และจราจร ในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกายที่ส่งผลกระทบในเบื้องต้น โดยทางกรุงเทพมหานครมีความพยายามในการเสนอให้กลับมาใช้แนวเส้นทางเดิมที่กรุงเทพมหานครได้เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดีจากการวิเคราะห์พบว่า โครงการดังกล่าวยังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากโครงการสะพานเกียกกายไม่มีประสิทธิภาพ และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังบดบังทัศนียภาพและความสง่างาม รวมถึงความปลอดภัยของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญของชาติ จึงเสนอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนโครงการดังกล่าว
ร.ศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากโครงข่ายของสะพานเกียกกายไม่เชื่อมถนนวงแหวน และมีจุดขึ้นลงที่คับแคบ พื้นที่ตลอดแนวเส้นทางโครงการสะพานเกียกกายเป็นที่ดินของรัฐและเป็นที่ดินของเอกชน ที่เป็นแปลงที่ดินขนาดเล็ก จึงไม่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้โครงการสะพานเกียกกายเดิม มีเป้าหมายเพื่อเป็นช่องทางด่วนในการเข้าออกของโครงการพัฒนาศูนย์พหลโยธิน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่ดินโดยรอบสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นศูนย์กลางรองทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากในปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้นำแปลงที่ดินบริเวณใจกลางของพื้นที่ศูนย์พหลโยธิน ที่เคยกำหนดให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และอาคารพาณิชยกรรมหลักมาทำเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง ทำให้ทิศทางการพัฒนาโครงการศูนย์พหลโยธินต้องลดขนาดลง ส่งผลให้ปริมาณการจราจรลดลงตามไปด้วย ดังนั้นจึงยังไม่มีความจำเป็นต้องสร้างถนนเพื่อรองรับขณะเดียวกัน โครงการสะพานเกียกกายไม่มีความจำเป็น เพราะมีระบบรถไฟฟ้าและทางด่วน ซึ่งพื้นที่บริเวณโครงการก่อสร้างสะพานเกียกกายพาดผ่าน จะมีระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าให้บริการอย่างน้อย 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงินบนถนนจรัญสนิทวงศ์ และสายสีม่วงบนถนนสามเสน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่มุ่งส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าเป็นระบบหลัก (Back Bone) และมีระบบโครงข่ายถนนเป็นระบบรอง (Feeder) เพื่อจ่ายให้กับระบบราง ตามแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (M-MAP) ในระยะ 20 ปี (2553-2572) ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะมีรถไฟฟ้า 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 509 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม ยังมีทางด่วนที่สามารถลดการจราจรในพื้นที่ได้ โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วง ตามแผนสามารถรองรับผู้ที่จะเดินทางมายังรัฐสภาได้อย่างเพียงพอประมาณ 50,000 คนต่อวันซึ่งสูงกว่าความต้องการของรัฐสภาที่วางแผนเดิมไว้ รวมถึงทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เปิดให้บริการแล้ว มีการเชื่อมพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยากับฝั่งตะวันออกย่านพหลโยธิน และมีโครงการต่อขยายไปจนถึงศูนย์คมนาคมขนส่งตลาดหมอชิต 2 ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาจราจรของสะพานข้ามแม่น้ำได้แล้วในบางส่วน

อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์พิเศษประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการสะพานเกียกกาย ส่งผลกระทบต่อความสง่างาม และความปลอดภัยของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญของชาติในฐานะเป็นศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องรองรับการประกอบพระราชพิธีต่างๆ ใช้ต้อนรับผู้นำและทูตานุทูตจากนานาประเทศ รวมถึงการชุมนุมของประชาชน และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

“อาคารรัฐสภาต้องการมุมมองที่งดงาม รวมถึงการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ดังนั้นการกำหนดแนวเส้นทางสะพานเกียกกายพาดผ่าน และประชิดใกล้กับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ในมุมสูงย่อมบดบังทัศนียภาพ และขัดกับมาตรฐานความปลอดภัยทางผังเมือง ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการเลือกที่ตั้ง และการก่อสร้างอาคารรัฐสภาริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่มีความโดดเด่น สง่างาม” อาจารย์ขวัญสรวงกล่าว

สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติม : เตชินี แก้วดวงงาม (กบ. 061-991-6154), มนัสวิน สิงหา โทร. 081-438-7353