สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ ดึงช่างภาพสารคดีระดับโลก “เซบาสเทียว ซาลกาโด้” โชว์ผลงานภาพถ่ายระดับมาสเตอร์พีช จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายระดับโลกครั้งแรกในเมืองไทย

0
555
image_pdfimage_printPrint

นิทรรศการภาพถ่ายระดับโลก Sebastião Salgado: The World Through His Eyes จะจัดแสดงในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเปิดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี

กรุงเทพฯ – สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ หอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ (Sundaram Tagore) จัดนิทรรศการภาพถ่ายระดับโลก“Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” ซึ่งเป็นการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานนิทรรศการแสดงภาพถ่ายที่สมควรเข้าร่วมชมมากที่สุดในโลก (The World’s Best Attended Photo Show) ซึ่งได้รวบรวมผลงานภาพถ่ายขาว-ดำของช่างภาพสารคดีระดับโลกชาวบราซิล เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastião Salgado) ตั้งแต่ปี 2529 จนปัจจุบัน เพื่อนำมาจัดแสดงในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ซาลกาโดได้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายระดับโลกในประเทศไทย งานแสดงภาพถ่ายในครั้งนี้ยังได้รวบรวบและจัดแสดงผลงานภาพถ่ายระดับมาสเตอร์พีชของซาลกาโกครั้งสำคัญ โดยได้นำภาพถ่ายมาจัดแสดงทั้งสิ้น 120 ภาพ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ซาลกาโดจะมาเยือนประเทศไทยเพื่อจัดแสดงงานด้วยตัวเอง พร้อมร่วมพูดคุยและเล่าประสบการณ์การถ่ายภาพทั่วโลกของเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ที่สนใจ

นายนิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายระดับโลก “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” โดยความร่วมมือกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และหอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ (Sundaram Tagore) ในครั้งนี้ว่า “เซบาสเทียว ซาลกาโด เป็นหนึ่งในช่างภาพสารคดีที่มีฝีมือการถ่ายภาพยอดเยี่ยมที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ของโลก โดยช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เขาได้เดินทางไปทั่วโลกมากกว่า 100 ประเทศเพื่อบันทึกภาพ ซึ่งในการถ่ายภาพของซาลกาโด เขาไม่แค่เพียงกดชัตเตอร์เท่านั้น ซาลกาโดได้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เขาจะถ่ายภาพเป็นสัปดาห์หรือมากกว่า เพื่อเป็นการทำลายกำแพงต่างๆ และเป็นนำเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่เหล่านั้น ทำให้ภาพถ่ายแต่ละภาพของเขานั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ร่วมและความเคารพต่อสิ่งที่เขาถ่ายภาพออกมา หากถ่ายภาพคน ก็จะเห็นได้ว่าในภาพถ่ายเพียงหนึ่งภาพของเขาจับได้ถึงความเปราะบางและความแข็งแกร่งของจิตใจมนุษย์ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ซาลกาโดตอบรับคำเชิญที่จะมาจัดแสดงผลงานภาพถ่ายของเขาในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกในอาเซียนที่ตัวของเซบาสเทียว ซาลกาโดจะมาร่วมพูดคุยถึงผลงานของเขาด้วยตัวเอง”

สำหรับนิทรรศการภาพถ่าย “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” ที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้ ได้รับการคัดสรรภาพโดยตัวของซาลกาโดเพื่อมาจัดแสดงในประเทศไทยโดยเฉพาะเป็นจำนวนถึง 120 ภาพ โดยภาพถ่ายที่จะนำมาจัดแสดงมาจากชุดผลงานที่เคยจัดแสดงมาแล้วทั่วโลก ได้แก่ Workers (พ.ศ. 2529 – 2536) และ Genesis (พ.ศ. 2547 – 2554) และงานนี้ยังได้จัดแสดงผลงานของภาพพิมพ์ที่มีเทคนิคการล้าง-อัดภาพขาว-ดำ (Silver Gelatin) ในชื่อชุด Other Americas (พ.ศ. 2540 – 2547) อีกด้วย

โดยผลงาน เวิร์คเกอร์ส (Workers) นั้นซาลกาโดเริ่มต้นถ่ายภาพงานชิ้นสำคัญในช่วงกลางทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) เกี่ยวกับผู้คนที่ใช้แรงงานในทุกอุตสาหกรรม ในช่วงนั้นเป็นช่วงของการเริ่มสหัสวรรษใหม่ที่เขาพบว่าผู้คนที่ประกอบอาชีพแรงงานเพื่อประทังชีวิตถูกคุมคามด้วยการผลิตที่ใช้เครื่องจักรและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผลงานชุดนี้เป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “โบราณคดีที่มองเห็นได้” แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม และนับเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของยุคที่ผู้ชายและผู้หญิงทำงานด้วยมือ จากผลงาน Workers นี้เองที่ทำให้ซาลกาโดต้องเดินทางไปทุกมุมโลก จากโรงงานจักรยานในประเทศจีนถึงไร่อ้อยและยาสูบในประเทศคิวบา ไปยังอู่เรือในประเทศบังคลาเทศ ซึ่งโครงการถ่ายภาพนี้ได้กลายเป็นโครงการระดับโลกโครงการแรกของเขาอย่างแท้จริง ความโด่งดังของผลงาน Workers นี้ตอกย้ำชื่อเสียงของซาลกาโดในฐานะช่างภาพระดับโลกเป็นอย่างดีทีเดียว

ต่อมาซาลกาโดได้สร้างสรรค์ผลงานในชุด Exodus หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Migrations ในผลงานชุดนี้ซาลกาโดได้จับถึงความเปราะบางและความแข็งแกร่งของจิตใจของมนุษย์ และผสานใส่รวมเข้ากับความรู้สึกร่วมและความเคารพในหัวข้อเรื่องของเขา ภาพถ่ายของเขาเปิดเผยให้เห็นถึงช่วงเวลาที่เปล่าเปลี่ยวที่สุดของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ผลงาน Exodus เป็นการบันทึกข้อมูลการขับไล่ครั้งใหญ่ของประชาชนทั่ว 35 ประเทศ ดังเป็นผลมาจากความแตกต่างทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

งานชุด Genesis เป็นผลงานที่เขาใช้เวลาทำถึง 8 ปีด้วยกัน ประกอบไปด้วยภาพถ่ายที่สวยงามของทิวทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ สัตว์ป่าที่สงบและเยือกเย็น และอารยธรรมโบราณ ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำและยังไม่ถูกแตะต้องโดยสังคมยุคใหม่ ในผลงานชุดนี้ซาลกาโดต้องเดินทางถึง 32 ครั้งเพื่อถ่ายภาพสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ห่างไกลและแสดงความเคารพต่อธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำให้เสียไป อันได้แก่ ภูเขาน้ำแข็งที่ดูเหมือนภาพฝันในบริเวณขั้วโลกใต้ ชนเผ่า Zo’é ที่รักสันโดษในประเทศบราซิล รอยแยกขนาดใหญ่ที่แกรนด์ แคนยอน ในรัฐอริโซนา และสัตว์พื้นเมืองของแอฟริกาในอุทยานแห่งชาติคาฟู (Kafue) ประเทศแซมเบีย ในปี พ.ศ. 2556 นิทรรศการชุด Genesis ได้เริ่มออกแสดงไปทั่วโลก โดยมีผลงานที่จัดแสดงมากกว่า 200 ภาพ จากงานชุดนี้ นิทรรศการนี้ได้เปิดแสดงครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ กรุงลอนดอน และเป็นหนึ่งในงานแสดงที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในปีนี้ จากนั้นนิทรรศการนี้ก็ได้ถูกจัดแสดงขึ้นที่สถานที่ทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงอีกหลายที่ทั่วโลก รวมถึงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งสิงคโปร์ ซึ่งนิทรรศการนี้ถูกขยายการจัดเป็น 4 เดือน เนื่องจากสถิติการเข้าชมอย่างล้นหลาม และ ในปี พ.ศ. 2557 ผลงานชุด Genesis ได้เปิดแสดงครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา ที่ศูนย์ภาพถ่ายนานาชาติ (The International Center of Photocopy) นครนิวยอร์กด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” ยังได้จัดแสดงแฟ้มผลงานพิเศษของภาพพิมพ์ที่มีเทคนิคการล้าง-อัดภาพขาว-ดำ (Silver Gelatin) จำนวน 20 ภาพ เป็นผลงานชุด Other Americas สำหรับผลงานชุดนี้ เขาเริ่มทำงานในปี พ.ศ. 2520 โดยถูกกระตุ้นโดยความต้องการที่จะกลับไปยังลาตินอเมริกาหลังจากที่ได้ผจญภัยในแอฟริกาและยุโรปมาเป็นเวลาหลายปี เขาใช้เวลาถึง 7 ปีในการถ่ายภาพในบราซิล ชิลี โบลิเวีย เปรู เอกวาดอร์ กัวเตมาลา และเม็กซิโก โดยภาพถ่ายชุดนี้ถูกรวบรวมและพิมพ์ในปี พ.ศ. 2557 และแคทตาลอกภาพถ่ายประกอบนิทรรศการนี้และภาพถ่ายที่คัดเลือกจากชุดผลงาน Genesis สามารถหาซื้อได้จากหนังสือที่มีชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Taschen (พ.ศ. 2556)

“Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” ไม่เพียงเป็นแค่การจัดแสดงผลงานศิลปะภาพถ่ายชุดสำคัญของซาลกาโดเท่านั้น แต่ยังได้รับเกียรติจากตัวเซบาสเทียว ซาลกาโดมาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์การถ่ายภาพชุดสำคัญของเขาด้วยตัวเอง พร้อมกับยังจะได้ชมภาพยนตร์ The Salt of the Earth ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับผลงานการถ่ายภาพของซาลกาโด โดยภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยวิม เวนเดอร์ส ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงราลวัลออสการ์ และจูเลียโดน ริเบย์โร ซาลกาโด บุตรชายของเซบาสเตียว ซาลกาโดนั่นเอง ซึ่ง The Salt of the Earth ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาสารคดีด้วย จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยจะได้ทั้งชมนิทรรศการผลงานของศิลปินระดับโลก ร่วมรับฟังประสบการณ์ตรงจากศิลปินที่สร้างผลงานและแรงบันดาลใจให้แก่ช่างภาพสารคดีทั่วโลก และชมภาพยนตร์สารคดีรางวัลระดับโลกภายในงานเดียว” นายนิติกรกล่าวในตอนท้าย

สำหรับนิทรรศการ “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” จัดแสดงในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือทาง www.rpst.or.th หรือ rpst.info@gmail.com

# # #

เกี่ยวกับ Sebastião Salgado
เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastião Salgado) เป็นคนสัญชาติบราซิลที่อยู่ในกรุงปารีส เขาเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2487 ในเมืองไอมอเรส (Aimorés ) รัฐมินาส เจอเรส โดยพ.ศ. 2506 ซาลกาโดย้ายไปที่รัฐเซา เปาลู และฝึกอบรมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ จนกระทั่งช่วงพ.ศ. 2512 – 2513 หลังจากที่ภรรยาของเขาให้เขายืมกล้องถ่ายรูป เขาจึงได้เริ่มต้นอาชีพช่างภาพ และในที่สุดก็ได้ลงหลักปักฐานในกรุงปารีส ซาลกาโดได้กล่าวว่า เนื่องจากเขามีชีวิตวัยเด็กและความรู้พื้นฐานในเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะเป็นช่างภาพที่มุ่งสนใจประเด็นหรือแนวมนุษยนิยม ที่ผ่านมาซาลกาโดได้จัดแสดงผลงานเดี่ยวที่หอศิลป์บาร์บิแคน (the Barbican Art Gallery) กรุงลอนดอน ศูนย์ภาพถ่ายระหว่างประเทศ (the International Center of Photography) นครนิวยอร์ก หอศิลป์คอร์โครัน (the Corcoran Gallery) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี., พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและหอศิลป์ the Photographers’ Gallery กรุงลอนดอน และพิพิธภัณฑ์รอยัล ออนตาริโอ (the Royal Ontario Museum) เมืองโตรอนโต

ผลงานของเขาเป็นผลงานศิลปะที่ถูกจัดแสดงอยู่ตลอดที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (the Museum of Modern Art) นครนิวยอร์ก สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก (the Art Institute of Chicago) สถาบันสมิธโซเนียน (the Smithsonian Institution) เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. และพิพิธภัณฑ์ศิลปะเขตลอส แองเจลลิส (the Los Angeles County Museum of Art) ในปี พ.ศ. 2558 ผลงานของซาลกาโดถูกรวมใน ฟรองเทียร์ส รีอิมเมจินด์ (Frontiers Reimagined) ซึ่งงานส่วนเสริมของงานศิลปะนานาชาติ เดอะ เวนิส เบียนนาเล่ (the Venice Biennale) ที่ได้รับการดูแลและจัดขึ้นโดยซุนดารัม ทากอร์ ด้วยประสบการณ์และผลงานมากมายทำให้ซาลกาโดได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟ และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน ในเมืองแคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซ็ท ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 ผลงานด้านสิ่งแวดล้อม ซาลกาโดและภรรยาของเขา เลเลีย วานิค ซาลกาโด ได้ฟื้นฟูป่าแอตแลนติก ในประเทศบราซิล เป็นพื้นที่ถึง 676 เฮคเตอร์ ในปี พ.ศ. 2541 พวกเขาได้ก่อตั้งสถาบันที่ไม่มุ่งหวังกำไร เทอร์รา ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูสภาพป่าและการศึกษาทางสิ่งแวดล้อม

เกี่ยวกับสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นสมาคมถ่ายภาพที่เก่าแก่และทรงเกียรติที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2502 โดยกลุ่มช่างภาพที่ต้องการสนับสนุนส่งเสริมศิลปะการถ่ายภาพ โดยมีนายรัตน์ เปสตันยี เป็นประธานคนแรก สมาคมฯ ได้เข้ามาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อ พ.ศ. 2504 ปัจจุบันสมาคมฯ มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยผู้สนใจจากทั่วโลกสามารถสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯ ได้

เกี่ยวกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (The Bangkok Art and Culture Centre (BACC)) สร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย สามารถจัดงานแสดงศิลปะ ดนตรี ละคร ภาพยนตร์ งานออกแบบ และงานทางด้านวัฒนธรรม/การศึกษา ในบรรยากาศที่เป็นกันเองและให้ความรู้สึกบันเทิง โดยมีร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ และห้องสมุดศิลปะรวมไว้ด้วยกัน หอศิลป์ฯ มุ่งหวังที่จะสร้างให้เป็นสถานที่พบปะสำหรับศิลปิน ที่จัดให้มีการแสดงทางวัฒนธรรมสำหรับกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่ร่วมสมัย ทางหอศิลป์ฯ ยังตั้งใจเปิดให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การสร้างเครือข่าย และสร้างทรัพยาการทางวัฒนธรรมใหม่ขึ้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน หอศิลป์ฯ มุ่งหวังให้เป็นสถานที่สำหรับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในแง่ของเนื้อหา การบริหารจัดการด้านภัณฑารักษ์และวัฒนธรรม โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นฐานการปฏิบัติการในส่วนศิลปะนานาชาติ

เกี่ยวกับหอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ (SUNDARAM TAGORE)
หอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ ก่อตั้งขึ้นในนครนิวยอร์กเมื่อ พ.ศ. 2543 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมตะวันตก โดยมีพื้นที่จัดแสดงทั้ง ในนครนิวยอร์ก (ถนนเชลซีและถนนแมดิสัน) สิงคโปร์ และฮ่องกง หอศิลป์เน้นที่การจัดแสดงนิทรรศการและการจัดงานที่ไม่หวังผลกำไรที่ส่งเสริมการสนทนาแลกเปลี่ยนด้านความรู้สึกนึกคิด สังคม และศิลปะ อีกทั้งยังมีพันธมิตรอยู่รอบโลก ความสนใจของหอศิลป์ในการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมจึงขยายเพิ่มเกินจากทัศนศิลป์ไปยังศิลปะแขนงอื่นๆ มากมาย รวมถึง กวีนิพนธ์ วรรณกรรม ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ และดนตรี
# # #