สมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดประชุมนานาชาติครั้งที่ 38

0
416
image_pdfimage_printPrint

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา สมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดประชุมนานาชาติครั้งที่ 38 ภายใต้หัวข้อการประชุม “Digital Literacy in English Language Learning and Teaching” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพครูในด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจากการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างครูผู้สอนภาษาอังกฤษทุกระดับ ณ กองฝึกอบรมภาษาและบุคลากรการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
โดยในปีนี้มุ่งเน้นที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการศึกษา เป็นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองและสังคมอย่างยั่งยืน ทางสมาคมฯ จึงใคร่ขอเชิญชวนครูผู้สอนภาษาอังกฤษเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ณ โรงแรม The Empress จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2561
ดร.ปนีตา นิตยาพร นายกสมาคมฯ ประธานเปิดการแถลงข่าวกล่าวว่า ความผันผวน การเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการแข่งขันที่ปรากฏในสังคมโลกปัจจุบัน ทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีการปรับกลยุทธ์และแนวปฏิบัติ เพื่อทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง เช่นเดียวกันกับภาคการศึกษาที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายให้สอดคล้องกับกระแสของโลก โดยไม่ขัดแย้งกับบริบทของตนเอง และเมื่อภาษาอังกฤษกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวดประการหนึ่ง ในอันที่จะสร้างบุคลากรของประเทศให้มีศักยภาพที่ทัดเทียมกับประชาคมโลกและเท่าทันกับการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ครูผู้สอนภาษาอังกฤษเองจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทและเสริมสร้างศักยภาพของตน เพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิผลสูงสุด
จากข้อมูลทางสถิติต่างๆ ที่ได้มีการนำเสนอกันอย่างแพร่หลายแสดงให้เห็นว่า เด็กไทยยังขาดความรู้และทักษะทางภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดทางความคิดและการแสดงศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขัน ในตลาดแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนลดลงไปด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ของปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะช่วยสร้างและเปิดโอกาสให้เด็กไทยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ โดยปราศจากข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ ทั้งยังเป็นการสร้างทักษะความเข้าใจและก่อให้เกิดการเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนรู้ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ดี ผู้ที่ทำหน้าที่คัดสรรเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมและผลักดันให้ผู้เรียนมีทักษะดังกล่าว โดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดการเรียนรู้การพัฒนาความสามารถ และการฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิผลของผู้เรียนนั้นคือ บุคลากรครู นั่นเอง