สผ. ผนึกกำลัง GIZ ปลุกกระแสลดโลกร้อนภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลกร้อน”

0
330
image_pdfimage_printPrint

กรุงเทพฯ วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ – สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ จัดงาน “เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลกร้อน (Climate Change, WE Change)” เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินงานต่างๆ ของภาครัฐที่มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานในพิธีกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๓๗ ภาคีพิธีสารเกียวโต เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ และล่าสุดได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ ๓ ประการ คือ ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า ๒ องศาเซลเซียส และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน ๑.๕ องศาเซลเซียส เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำโดยไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร และทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย สผ.ได้มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกทั้งในฐานะหน่วยประสานงานกลางของ UNFCCC สผ. ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายทั้งระดับชาติและระดับรายสาขา เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ดร.รวีวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่งานที่จะกระทำให้บรรลุผลสำเร็จได้ด้วยกำลังของหน่วยงานหรือภาคส่วนใดเพียงส่วนเดียว หากแต่ทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญและร่วมมือร่วมใจในการดำเนินงาน โดยอาจเริ่มต้นจากพวกเราทุกคน เช่น การลดใช้ถุงพลาสติก และการหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น”

มร.ทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า “ภาวะโลกร้อนได้คุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่สิ่งที่เราจะรับรู้หรือสัมผัสได้ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าหรือในอนาคต แต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้ว โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา GIZ ได้ให้ทุนสนับสนุนประเทศไทยเป็นจำนวนกว่า ๑๓๕ ล้านยูโร หรือราว ๔,๕๐๐ ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมหรือโครงการทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ในภาคส่วนที่สำคัญๆ อาทิ พลังงาน การจัดการน้ำ การเกษตร สาธารณสุข คมนาคมขนส่ง และการจัดการของเสีย”

มร.ทิม ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงมือทำและความร่วมแรงร่วมใจเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวว่า “ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นภัยคุกคามเฉพาะแต่ในประเทศไทยหรือในเยอรมนีเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือร่วมใจ มุ่งมั่น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และไม่ใช่จำกัดการรณรงค์อยู่เพียงกลุ่มคนรักและใส่ใจโลกเท่านั้น แต่ต้องสื่อสารและสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ให้ความสนใจหรือใส่ใจมากนักด้วย”

งาน “เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลกร้อน” จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ภายในงานมีนิทรรศการ “ตระหนักรู้สู้สภาพอากาศเปลี่ยน” บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บูธแสดงผลงานโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับ GIZ ในการสนับสนุนการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมสนุกสนานกับหลากหลายเกมส์ลดโลกร้อน การแสดงดนตรีสดจากนภ พรชำนิ และการเสวนา“คุณทำอะไรเพื่อเปลี่ยนโลกร้อน” โดยแขกรับเชิญพิเศษอย่างติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี