สนพ.เผยผลสำเร็จการซื้อขายไฟฟ้า ระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

0
321
image_pdfimage_printPrint

Logo-เปลี่ยนใหม่-ประหยัดชัวร์

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจัดงานเสวนา “ระบบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”
เผยประเทศไทยลงนามซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว 7,000 เมกะวัตต์ สร้างเสถียรภาพการใช้ไฟฟ้าในประเทศ

(16 พฤศจิกายน 2558 : โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลตัล) ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง ระบบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการซื้อขายไฟฟ้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าในปริมาณ 7,000 เมกะวัตต์ โดยในปริมาณดังกล่าวมีการซื้อขายจริงแล้ว 3,087 เมกะวัตต์ ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2,334 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความร่วมมือทางด้านพลังงานไฟฟ้ากับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการดำเนินการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยในอนาคต

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) ซึ่งประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละประเทศเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาและเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

การพัฒนาในสาขาพลังงานเป็นอีกสาขาหนึ่งในกรอบความร่วมมือระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ เลขาธิการพลังงานแห่งชาติคนแรก เป็นผู้ที่ริเริ่มและผลักดันและพัฒนาโครงการในลุ่มแม่น้ำโขงโดยท่านเห็นว่า แม่น้ำโขงมีศักยภาพมากทั้งในด้านพลังงานและเกษตรกรรม ซึ่งสามารถได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม ดังจะเห็นได้จากโครงการเขื่อนพองหนีบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อน น้ำพอง ได้ถูกเริ่มขึ้นจนสำเร็จ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเขื่อนนี้ว่า “เขื่อนอุบลรัตน์”

จากความร่วมมือระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ 2538 จนกระทั่งปี 2543 ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการประชุมครั้งที่ 9 ได้มีการให้คำรับรองอย่างเป็นทางการ สำหรับถ้อยแถลงนโยบายการซื้อขายไฟฟ้าในกลุ่มประเทศสมาชิกโดยมีศูนย์ความร่วมมือการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Regional Power Trade Coordination Committee หรือ RPTCC) ประสานการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าให้สำเร็จลุล่วง โดยในปัจจุบันมีการซื้อขายไฟฟ้าแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ (Bilateral Contract) และใช้ค่าความจุสายส่ง (Capacity) ส่วนที่เหลือของสายส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ดังที่ประเทศไทยได้มีการซื้อขายไฟฟ้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

“การเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจด้านการซื้อขายไฟฟ้า ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเป็นการรำลึก 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลด้านพลังงานของประเทศ” ดร.ทวารัฐ กล่าว