1

สนพ. ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย”

KIT_0050

สนพ. ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน
“พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย”
……………………………………………………….……..
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” ขอน้อมนำแนวทางร่วมสืบสาน พระราชปณิธาน พระราชดำริ มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในงานบ้านและสวนแฟร์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2559
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์นักพัฒนา ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐต่อพสกนิกรชาวไทย ตลอด 70 ปี แห่งรัชสมัย ได้ทรงอุทิศพระวรกายประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อความเจริญของชาติบ้านเมืองอย่างเอนกอนันต์ โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงาน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ กระทรวงพลังงาน ขอน้อมนำพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่มีต่อพลังงานไทย มาจัดแสดงนิทรรศการในงานบ้านและสวนแฟร์ 2016 ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2559 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อร่วม สืบสานพระราชปณิธาน “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย”
นิทรรศการที่นำมาจัดแสดง ประกอบด้วยพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่มีต่อพลังงานไทย โดยแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงต้นรัชกาล เล่าถึงเรื่องราวการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยพระองค์ท่านมีความ สนพระทัยเรื่อง “น้ำ” เป็นลำดับต้นๆ เพราะทรงทราบดีว่าเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร นอกจากพระราชดำริมากมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำแล้ว ในเวลาเดียวกันพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้นำน้ำที่กักเก็บไว้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการบูรณาการทรัพยากรอย่างครบถ้วน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนในช่วงกลางรัชกาลนั้น ได้บอกเล่าถึงพระปรีชาสามารถด้านพลังงานทดแทน ทรงริเริ่มศึกษาวิจัยเชื้อเพลิงเอทานอลในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแบบครบวงจร และได้โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล” และยังทรงได้รับเหรียญทองประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ จากโครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2001” ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม และ ในปี 2553 พระองค์ท่านได้เสด็จประทับเรือพระที่นั่ง “เรืออังสนา” เรือที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซล 100% ไปทำพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
และในช่วงปลายรัชกาลขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีสายพระเนตรที่ ยาวไกล โดยได้วางรากฐานให้คนไทยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับชั้น เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ บนหลักความ “มีเหตุผล” ความพอประมาณ” และ “เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน” ซึ่งพระองค์ท่านได้ประพฤติเป็นแบบอย่างให้กับพสกนิกรด้วย อย่างเช่น เรื่องของหลอดยาสีพระทนต์ หรือ ดินสอ ท่านจะใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ส่วนในเรื่องของแนวพระราชดำริที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการพลังงานที่ผ่านมานั้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ เรื่องที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ แนวพระราชดำริให้ศึกษาวิจัยเรื่องน้ำมันแก๊สโซฮอลและไบโอดีเซล ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนผู้คนในวงการพลังงานต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า หากไม่ใช่เพราะพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน การนำน้ำมันแก๊สโซฮอลและไบโอดีเซลมาใช้ในประเทศไทยคงไม่ก้าวหน้ารวดเร็วเช่นในทุกวันนี้ และอาจต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์น้ำมันมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ สนพ. ยังได้อัญเชิญหลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากพิพิธภัณฑ์วาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมจัดแสดงใน งานนิทรรศการ เพื่อน้อมระลึกถึงพระราชจริยวัตรต้นแบบของความพอเพียง อันเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรชาวไทยเสมอมา นอกจากนี้ภายในงานนิทรรศการ “สืบสานพระราชปณิธาน พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป 500 ท่านแรก รับ USB ภายในบรรจุเนื้อหาหนังสือพระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย ภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์สีพระทนต์ และสารคดีตามรอยพระยุคลบาท ชุด พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย
“ภายหลังจากที่กระทรวงพลังงานจัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2545 กระทรวงพลังงานจึงได้น้อมนำพระราชดำริเรื่องของพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำมาผลิตไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวภาพ เอทานอล และ ไบโอดีเซล ขยายผลเชิงนโยบายจนปัจจุบันได้นำมาสานต่อเป็นเสาหลักในการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทย ผ่านรูปแบบ Energy 4.0 เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน” นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม

…………………………………………………………………………………