สธ. จับมือกรมวิทย์ฯ และหน่วยงานในสังกัด โชว์นวัตกรรมให้บริการตรวจการติดเชื้อวัณโรคแฝง และพัฒนาชุดทดสอบวัณโรค ตรวจง่าย ได้ผลเร็ว ราคาถูก

0
609
image_pdfimage_printPrint

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และหน่วยงานในสังกัดพร้อมให้บริการตรวจการติดเชื้อวัณโรคแฝงด้วยการตรวจตัวอย่างเลือด และพัฒนาชุดทดสอบวัณโรคอย่างง่าย “ทีบี แลมป์” ตรวจได้ที่โรงพยาบาล หาวัณโรคแบบมีอาการ วิธีการตรวจง่าย มีความไวและความจำเพาะต่อเชื้อวัณโรคสูง รู้ผลเร็วใน 1 ชั่วโมง เพื่อการรักษารวดเร็ว ลดอัตราการเสียชีวิตและการแพร่กระจายโรค บรรลุเป้าหมายยุติวัณโรคในปี 2578
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังร่วมกันแถลงข่าว “การให้บริการตรวจการติดเชื้อวัณโรคแฝง และการพัฒนาชุดทดสอบวัณโรค ตรวจง่าย ได้ผลเร็ว”ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยุติปัญหาวัณโรค เน้นการรณรงค์ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้ครอบคลุม รวดเร็ว เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องลดอัตราการเสียชีวิตและการแพร่กระจายโรคบรรลุเป้าหมายยุติวัณโรคในปี 2578 โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 1.2 แสนคน เสียชีวิตปีละ 1.2 หมื่นคน เข้าสู่ระบบการรักษาและสามารถติดตามอาการและการรักษาได้ประมาณ 80,000 คน คิดเป็นร้อยละ 75 ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 80 ตรวจพบที่ปอด และร้อยละ 20 ตรวจพบนอกปอด นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของประชากรมีการติดเชื้อวัณโรคแฝงหรือแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งไม่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค โดยกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อ
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข สามารถตรวจหาการติดเชื้อวัณโรคได้ทั้งวัณโรคแฝง โดยใช้การตรวจวัดปริมาณสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาจากตัวอย่างเลือด (Interferon Gamma Release Assay : IGRA) ซึ่งไม่มีปัญหาในการเก็บตัวอย่าง และองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วิธีนี้เพื่อตรวจหาวัณโรคแฝงในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งการรักษาอาจมีผลทำให้วัณโรคแฝงพัฒนาเป็นวัณโรค เช่น ผู้ป่วยโรคไขข้ออักเสบที่ได้รับยาสเตียรอยด์นานๆ ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น และกลุ่มเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งผู้เดินทางไปต่างประเทศตามที่ประเทศปลายทางกำหนดให้มีการตรวจวัณโรคแบบแฝง นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ช่วยตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคปอดรายที่วินิจฉัยยาก ตรวจด้วยวิธีอื่นไม่พบเชื้อ หรือเก็บเสมหะไม่ได้ และช่วยวินิจฉัยวัณโรคนอกปอดที่อาจเก็บตัวอย่างจากอวัยวะนั้นๆ ไม่ได้ เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคต่อมน้ำเหลือง วัณโรคโพรงจมูกที่มีรายงานแต่พบน้อย
รวมทั้งได้พัฒนาชุดทดสอบ ทีบี แลมป์ (LAMP : Loop-mediated isothermal amplification) มาเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยวัณโรคแบบมีอาการ ใช้การตรวจดีเอ็นเอจากตัวอย่างเสมหะ จึงมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อ วิธีการตรวจง่าย สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล มีความไวและความจำเพาะต่อเชื้อวัณโรคสูง รู้ผลใน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้แทนการตรวจด้วยวิธีการย้อมเชื้อในเสมหะ เนื่องจากมีความไวสูงกว่า หรือใช้ตรวจเพิ่มในรายที่มีผลตรวจย้อมเชื้อในเสมหะเป็นลบ โดยขณะนี้นำร่องใช้ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เขตสุขภาพที่ 7 อยู่ระหว่างการติดตามผล และจะขยายไปยังโรงพยาบาลชุมชนต่อไป
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในระยะแรกกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะให้การสนับสนุนการผลิตน้ำยา TB-LAMP ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขพัฒนาขึ้น และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการให้สามารถตรวจวัณโรคได้ด้วยการตรวจดีเอ็นเออย่างง่าย ชุดทดสอบมีราคาไม่เกิน 200 บาทต่อการทดสอบ ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคให้ได้ผลตรวจเร็วภายใน 1 ชั่วโมง และมีราคาถูกกว่าวิธีตรวจดีเอ็นเอด้วยวิธีอัตโนมัติ โดยใช้เครื่อง Xpert MTB/RIF ที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ทั้งวัณโรค และการดื้อยา rifampicin ตรวจได้ทั้งตัวอย่างเสมหะที่มีผลย้อมเชื้อเป็นบวกและลบ ซึ่งมีราคาชุดทดสอบ 700 บาทต่อการทดสอบ
ที่สำคัญ การทดสอบ ทีบี แลมป์ สามารถตรวจตัวอย่างได้จำนวนมาก 10-14 ตัวอย่างต่อรอบ มีความไวกว่าการตรวจด้วยวิธีการย้อมสีเชื้อในเสมหะ จึงช่วยให้ตรวจพบผู้ป่วยวัณโรคได้มากขึ้น และเป็นการตรวจจากสารพันธุกรรมจึงมีความจำเพาะสูงช่วยยืนยันเชื้อวัณโรคได้อย่างแน่นอน สามารถทดสอบได้ในโรงพยาบาลทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงวิธีการตรวจโรคที่มีประสิทธิภาพ และมีราคาถูกในจุดบริการผู้ป่วย ลดการใช้งานชุดทดสอบ Xpert MTB/RIF ที่มีราคาสูง เพื่อใช้งานในกรณีที่จำเป็น เช่น การตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา rifampicin