สทป.มุ่งปฏิรูป งานวิจัย –พัฒนา ยุทโธปกรณ์

0
494
image_pdfimage_printPrint

DSCF6767-R

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มุ่งปฏิรูปงานวิจัย –พัฒนา ยุทโธปกรณ์ เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Defence Technology Institute(DTI) เป็นหน่วยงานในรูปแบบองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยใช้ทรัพยากรของกระทรวงกลาโหม ร่วมกับหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งเมื่อ สทป.ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว จะทำการวิจัยและพัฒนาต่อยอดสร้างต้นแบบยุทโธปกรณ์ที่เป็นความต้องการของเหล่าทัพ
ปัจจุบัน สทป.มีงานวิจัยที่ได้มีการสร้างขึ้นเองจากทีมงานนักวิจัยฝีมือคนไทย อาทิ จรวดหลายลำกล้องนำวิถีและแบบไม่นำวิถี , อากาศยานไร้คนขับ ยานเกราะล้อยาง 8×8 เป็นต้น ถือเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เข้มแข็งขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังสามารถพึ่งพาตนเองด้วยการเป็น “เจ้าของ” เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ทำให้ไม่ต้องเสียดุลการค้าจากการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ถือเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศสำคัญอย่างไร
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มชั้นที่ 3 หรือ Third Tier ซึ่งมีความสามารถที่จะผลิตยุทโธปกรณ์ได้เพียงบางส่วน เนื่องจากสถานภาพของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยในปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก มีขีดความสามารถเพียงเพื่อการซ่อมบำรุง และสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์บางประเภทสนับสนุนให้แก่กองทัพเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ทีได้พัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในอนาคตหากมีการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีที่ตอบสนองตรงความต้องการด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศและสร้างงานให้แก่ประชาชนเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านการทหารอีกด้วย
ทำไม? ประเทศไทยต้องมีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้งเมื่อปัญหาการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมมีความรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการจัดหายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศเข้ามา เนื่องจากไทยไม่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นของตนเอง ดังนั้นประเทศต่าง ๆ ที่พัฒนาแล้วจะมองเห็นแนวทางในการดำเนินนโยบายป้องกันประเทศที่ต่างกัน แต่ตั้งเป้าหมายเดียวกันในลักษณะการสร้างกองทัพเพื่อความมั่นคงแบบพึ่งพาตนเอง ด้วยการสร้างและส่งเสริมการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ในกองทัพ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะเป็นหลักประกันความมั่นคงที่ไม่ต้องไปพึ่งพาผู้อื่น และยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ดังนั้น การมีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะเป็นกลไกในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า Economic Multiplier ในขณะที่ก็สามารถเพิ่มความมั่นคงให้กับประเทศด้วย รู้จักDTI เพิ่มเติมได้ที่ http:// www.dti.or.th