สถาปัตย์ ม.ศรีปทุม จับมือ Big Camera และ DEESAWAT ร่วมมือ MOU สร้างนักศึกษามือโปร รองรับตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์
สถาปัตย์ ม.ศรีปทุม ยืนหนึ่งเรื่อง “เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง” รุดจับมือ Big Camera และ 7 แบรนด์ดีไซน์ชั้นนำระดับประเทศ สร้างนักศึกษามือโปร รองรับตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์
มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมกับ บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด (7 แบรนด์ดีไซน์ชั้นนำระดับประเทศ ประกอบด้วย DEESAWAT, Divana Nurture Spa, Labrador, Bathroom Design , Mobella Galleria , Masaya และ Greyhound) โดยมี อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คุณธนสิทธิ์ เธียรกาญจนวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)และคุณจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด พร้อมด้วย ผู้แทน 7 แบรนด์ดีไซน์ชั้นนำระดับประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง MOUร่วมกัน เพื่อร่วมสร้างนักศึกษามือโปร รองรับตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์ ตอบรับกระแสตลาดโตทะลุ 1 ล้านล้านบาท ณ ห้องบอร์ดรูม ชั้น 14 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม กทม.(บางเขน) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา
อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า การMOU อีกหนึ่งความร่วมมือที่ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้เดินหน้าขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าระดับประเทศ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยการ“เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง”
โดยล่าสุดนี้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้จับมือกับ บริษัท Big Camera และ 7 แบรนด์ดีไซน์ชั้นนำระดับประเทศ ประกอบด้วย DEESAWAT, Divana Nurture Spa, Labrador, Bathroom Design , Mobella Galleria , Masaya และ Greyhound มุ่งสู่ความก้าวหน้าของรูปแบบการศึกษายุคใหม่ ที่เน้นองค์ความรู้ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ ทั้งเชิงวิชาการและวิชาชีพด้านการออกแบบ รวมไปถึงการพัฒนาธุรกิจที่สืบเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์ ที่ในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญและมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง ร้อยละ 5.61 ของ GDP โดยในปี 2560 มีมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท ดังนั้น การที่นักศึกษาได้เรียนรู้ลงมือปฏิบัติจริง จะช่วยเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความก้าวหน้าในวิชาชีพเมื่อจบการศึกษา