กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นอุตสาหกรรม ที่มีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการสร้างรายได้จากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเป็นแหล่งจ้างงานในอุตสาหกรรมกว่าล้านคน และชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ในระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2559 เติบโตถึงร้อยละ 35.52 (ร้อยละ 43.47 ในหน่วยของเงินบาท) จากเดิมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ที่มีมูลค่า 8,600.04 ล้านเหรียญสหรัฐ (286,264.53 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 11,654.57 ล้าน-เหรียญสหรัฐ (410,716.35 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.26 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เป็นสถาบันหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันมีภารกิจสำคัญในฐานะที่เป็นสถาบันแห่งชาติคือ การดำเนินงานวิจัย ตรวจสอบ และออกใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งโลหะมีค่า การพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรม และการจัดทำข้อมูลการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งกิจกรรมทางวิชาการที่สำคัญและสอดคล้องกับภารกิจนี้อย่างหนึ่งคือการแสดงบทบาทผู้นำเชิงวิชาการด้านอัญมณีและเครื่องประดับในระดับนานาชาติ ผ่านการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อให้เป็นเวทีในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักออกแบบเครื่องประดับ นักการตลาด นักลงทุน และผู้บริหารองค์กรวิชาการ สถาบันวิจัย ตลอดจนผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก เข้าร่วมแสดงผลงาน อีกทั้งเป็นการแสดงศักยภาพและเผยแพร่ผลงานของนักวิชาการไทย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนกิจการค้าภายในประเทศ ซึ่งกิจกรรมเช่นนี้ ไม่มีประเทศอื่นใดในภูมิภาคสามารถจัดได้
สถาบันได้ดำเนินการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งที่ 1 ในปี 2549 ครั้งที่ 2 ในปี 2552 ครั้งที่ 3 ในปี 2555 และ ครั้งที่ 4 ในปี 2557 ซึ่งประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ ดังจะเห็นจากการมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้งกว่า 500 คน และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักวิชาการ และผู้ประกอบการชาวต่างชาติ
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 5 ภายใต้ชื่อ “The Fullmoon of GemUnity” มีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 – 18 พฤศจิกายน 2559 โดยในวันที่ 9 – 13 พฤศจิกายน 2559 เป็นการทัศนศึกษาดูแหล่งอัญมณีในประเทศเมียนมาร์ วันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2559 เป็นการนำเสนอผลงานทางวิชาการในรูปแบบการบรรยายและแสดงโปสเตอร์ ณ โรงแรม เดอะ ซายน์ พัทยา และวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2559 เป็นการทัศนศึกษาดูแหล่งอัญมณี พลอยสี ตลาดค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และวิถีชีวิตเมืองแห่งอัญมณีที่จังหวัดจันทบุรี และตราด แหล่งต้นกำเนิดทับทิมสยาม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำบทบาทผู้นำทางวิชาการด้านอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาคเอเซีย และะการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของนักอัญมณีศาสตร์ นักวิจัย นักออกแบบ นักการตลาด ผู้ประกอบการ จากทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากของผู้เข้าร่วมงาน ในการรวบรวมองค์ความรู้ และการนำเสนอผลงานวิชาการที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญให้นำเสนอในที่ประชุมไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อสะดวกต่อการค้นคว้า อ้างอิง และเผยแพร่ให้กว้างขวางขึ้นในเวทีวิชาการนานาชาติ