สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ก้าวสู่ปีที่ 14 จัดสัมมนาถกปัญหาความท้าทายแห่งการพัฒนาภายหลัง ปี 2558

0
401
image_pdfimage_printPrint

-พินิจภูวดล

“ITD” ฉลองครบรอบ 13 ปี ระดมผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ ถกปัญหาที่ท้าทายต่อการพัฒนาภายหลังปี 2558: ที่มีนัยต่อการค้าและการพัฒนาภายในประชาคมอาเซียน ชู 17 เป้าหมายหลัก การพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาตินำขึ้นมาหารือ คาดจะได้ผลงานทางวิชาการ ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และอาเซียนอย่างแน่นอน

2 กันยายน 2558 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน การประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “ความท้าทายแห่งการพัฒนาภายหลังปี 2558: นัยต่อการค้าและการพัฒนา ภายในประชาคมอาเซียน” (Post-2015 Development Challenges: Implications for Trade and Development for ASEAN Community)

ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ The International Institute for Trade and Development (Public Organization) เรียกย่อว่า “ITD” เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 14 ของการก่อตั้ง ITD จึงจัดให้มีการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องความท้าทายแห่งการพัฒนาภายหลังปี 2558: นัยต่อการค้าและการพัฒนาภายในประชาคมอาเซียน (Post-2015 Development Challenges: Implication for Trade and Development in ASEAN Community) ขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่ว เพื่อเป็นการพัฒนาและสรุปประเด็นการพัฒนา สร้างความท้าทายใหม่ๆ ด้านการค้าและการพัฒนาประเทศและในประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 ซึ่งจะนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานทางวิชาการใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อประเทศต่อไป

สำหรับประเด็นการประชุม ได้หยิบยกเอาเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) ที่จะสิ้นสุดลง ในปี 2558 ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดวาระการพัฒนาประเทศหลังปี 2558 ที่ยังคงเป้าหมายของการพัฒนาให้เป็นแบบยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการพัฒนาไปที่ 17 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การขจัดความยากจน การขจัดความหิวโหย การมีสุขภาวะในการดำรงชีวิตที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการน้ำและการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน การเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน การมีงานทำและการจ้างงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง การลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล การพิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศ การส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข และการเข้าถึงความยุติธรรม และ สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามเนื่องจากในปลายปี 2558 อาเซียนจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ประกอบด้วยเสาหลัก 3 เสา ได้แก่ (1) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community – ASC) (2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) (3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC) ประชาคมอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่อุบัติขึ้นภายหลังปี 2558 โดยเฉพาะด้านการค้าและการพัฒนา เช่น การเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตและห่วงโซ่อุปทานโลก การเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศ การมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว ปัญหาภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศสมาชิก การแพร่ระบาดของโรคทั้งในมนุษย์และสัตว์ ปัญหาการก่อการร้าย การค้ามนุษย์ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ การส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมและการสร้างความเท่าเทียม ลดช่องว่างระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก และการพัฒนาเพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติต่อไป

“ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา สถาบันได้ผลิตผลงานและให้บริการทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินกิจกรรมจัดการศึกษาอบรมและให้การสนับสนุนเพื่อการค้นคว้าวิจัยด้านการค้าระหว่างประเทศ การเงิน การคลัง การลงทุน และการพัฒนาแก่บุคลากรของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างเสริมศักยภาพและความสามารถในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ เป็นศูนย์กลางจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมเสริมศักยภาพต่างๆ และในปีนี้เป็นปีที่สำคัญอีกปีหนึ่งที่สถาบันครบรอบ 13 ปี แห่งการจัดตั้ง จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงวิชาการและสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างความท้าทายด้านการค้าและการพัฒนาประเทศและในประชาคมอาเซียนต่อไป พร้อมกันนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานสำคัญที่ผ่านมาของสถาบันฯ ด้านการวิจัยการฝึกอบรม การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ในบริเวณสถานที่จัดงานอีกด้วย”
ดร.กมลินทร์ กล่าวปิดท้าย